วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

อ่าน: พระนามองค์นาคราช และรายละเอียดเฉพาะองค์ ได้ที่
http://phimeanakas.blogspot.com/2012/05/blog-post_21.html

       ปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง  ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์  สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณ  ที่มีความงดงามมากที่สุดแห่ง หนึ่ง ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของปราสาทแห่งนี้ปรากฏให้เห็นได้ในรูปของงานสถาปัตยกรรม การจำหลักลวดลายการเลือกทำเลที่ตั้งบนยอดเขามีแผนผังตามแนวแกนที่มีองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้าง ต่าง ๆ เรียงตัวกันเป็นแนวเส้นตรงพุ่งเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทประธาน จากงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่นี้  ชวนให้เกิดความสงสัยและอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าคนในสมัยโบราณสร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นมาได้อย่างไร
            ปราสาทพนมรุ้ง เป็นที่รู้จักของชาวท้องถิ่นเป็นอย่างดี ดังได้มีนิทานพี้นบ้านเรื่อง "อินทรปรัสถา" กล่าวถึงคู่พระคู่นางซัดเซพเนจรไปจนพบที่พักพิงซึ่งเป็นปราสาทหินอันงดงามรกร้างอยู่ท่ามกลางป่าเขา แต่สำหรับบุคคลภายนอกต่างบ้านต่างเมืองนั้น ปราสาทแห่งนี้รู้จักกันครั้งแรกตามที่มีเอกสารที่มีการกล่าวถึงปราสาทพนมรุ้งเป็นครั้งแรกคือ บันทึก ของนายเอเตียน เอมอนิเยร์ (Etienne Aymonier) ชาวฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2428 ตีพิมพ์เป็นบทความใน พ.ศ. 2445
             ปี พ.ศ. 2449 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่ปราสาทพนมรุ้ง คราวเสด็จมณฑลอีสาทและเสด็จอีกครั้งในปี พ.ศ. 2472 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
             และปี พ.ศ. 2503-2504 ได้ดำเนินการสำราจปราสาทพนมรุ้งอีกครั้ง ต่อมาใน พ.ศ. 2514 ได้เริ่มดำเนินการบูรณะปราสาทพนมรุ้งด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis คือ การนำชิ้นส่วนของปราสาทกลับเข้าสู่ตำแหน่างเดิม) เปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
            ชื่อของปราสาทพนมรุ้ง เป็นชื่อดั้งเดิมของโบราณสถานแห่งนี้ คำว่า พนมรุ้งปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ที่พบที่ปราสาทแห่งนี้จารึกพนมรุ้ง หลักที่ 2 หลักที่ 4 และ K10900 จารึกว่า พนมรุ้งเป็นชื่อเทวสถาน ที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีที่ดิน หมู่บ้าน เมือง
           ปราสาทแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะพระองค์ที่ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส ดังนั้น การที่ ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นบนยอดเขาพนมรุ้ง จึงเป็นการสะท้อนถึงการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายได้เป็นอย่างดีผ
            อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของปราสาทพนมรุ้ง ไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันหมดในคราวเดียว ได้มีการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อการนับถือศาสนาของชุมชน ขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ได้แก่ ปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายเหลือเพียงฐานและกรอบประตู หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ โดยกษัตริย์ของอาณาจักรเขมรโบราณ หรือผู้นำที่ปกครองชุมชน อันมีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง
            ปราสาทพนมรุ้ง คงมีความสำคัญสืบต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1544) พระองค์นับถือศาสนาฮินดูไศวนิกาย เช่นเดียวกับพระราชบิดา (พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ) นอกจากจะมีพระราชโองการให้สร้างจารึกเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระราชบิดาแล้วยังทรงถวายที่ดินให้กับเทวสถานใน สมัยนี้เอง เทวสถานบนเขาพนมรุ้ง เป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยรอบอย่างแท้จริง ข้อความในจารึกพนมรุ้ง บางหลักแม้จะมีเนื้อความขาดหายแต่ก็ให้ภาพ รวมได้ว่าเทวสถานบนเขาพนมรุ้ง เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ คือ ศิวลึงค์ มีอาณาเขตกว้าวขวางมีที่ดิน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าวรมันที่ 5 ) และข้าราชการระดับต่าง ๆ ถวายหรือซื้อถวายให้กับเทวสถานพร้อมกับมีพระราชโองการ ให้ปักหลักเขตที่ดินขึ้นกับเทวสถานพนมรุ้งพร้องกับการสร้างเมือง สร้างอาศรมให้กับโยคี และนักพรตด้วย
            ในราวพุทะศตวรรษที่ 17 ได้มีการก่อสร้างปราสาทประธานขึ้น จากการศึกษาศิลาจารึกพนมรุ้ง หลักที่ 7 และหลักที่ 9 กล่าวได้ว่าปราสาทประธานสร้างขึ้นในสมัยเรนทราทิตย

สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
            ปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีองค์ประกอบและแผนผังในแนวแกนที่เน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ที่ปราสาทประธานแผนผังของปราสาทประกอบด้วย อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เรียงตัวกันในแนวยาวตามแนวลาดชันของเขาพนมรุ้ง ดังนี้

บันไดต้นทาง
            บันไดต้นทาง จากกระพักเขาด้านล่าง ทางทิศตะวันออกที่ก่อด้วยศิลาแลง เป็นชั้น ๆ 3 ชั้น สุดบันไดขึ้นมาเป็น ชาลารูปกากบาท ยกพื้นตรงกลางสูงกว่าปีก 2 ข้างเล็กน้อย ปูด้วยศิลาแลง เข้าใจว่าเป็นฐานพลับพลารูปกากบาทซึ่งเป็นซุ้มประตูทางเข้า (โคปุระชั้นนอก) ด่านแรกของปราสาทซุ้มประตูนี้คงมีรูปทรงคล้ายกับซุ้มประตูของระเบียงคด
            ทิศตะวันออก ซึ่งเป้นทางเข้าด่านสุดท้าย (โคปุระชั้นใน) แต่ไม่มีวัสดุก่อสร้าง เหลือเป็นหลักฐานให้ทราบชัด อาจจะเป้นพลับพลาโถง สร้างด้วยไม้มุงกระเบื้องก็ได้ ด้านในพลับพลาค่อย ๆ ลาดลงสู่ทางเดินที่นำไปสู่บันไดทางขึ้นปราสาทของเดิม อาจมีบันไดก่อด้วยศิลาแลง หรือ หินทรายทอดลงไปเป็นชั้น ๆ






พลับพลา
ทางทิศเหนือของชาลากากบาทมีอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 6.40 เมตร ยาว 20.40 เมตร ก่อด้วยศิลาแลงมีหินทรายประกอบบางส่วน   อาคารนี้หันหน้าไปทางทิศใต้มีทางเข้าออกอยู่ทางทิศตะวันออกและอยู่ทางทิศตะวันตกของอาคาร  บนฐานพลับพลามีเสาหิน 4 ต้น  มีระเบียงทางเดินล้อมอาคาร รวม  3   ด้าน ยกเว้นด้านหน้า เข้าใจว่า ของเดิมอาจมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องนอกระเบียงมีกำแพงชั้นนอกก่อด้วยศิลาแลงล้อมอยู่โดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มีทางเข้าด้านหน้าซึ่งเชื่อมต่อมาจากชาลารูปกากบาท พลับพลาโถงหลังนี้  อาจเป็นอาคารที่เรียกกันในสมัยปัจจุบันว่า "พลับพลาเปลื้องเครื่อง"   คือเป็นที่พักจัดเตรียมพระองค์ เช่น เปลื้องเครื่องทรงที่แสดงยศศักดิ์ และจัดกระบวนเสด็จของกษัตริย์ยาเสด็จมาสักการะเทพเจ้า หรือประกอบพิธีกรรม ณ ศาสนสถานแห่งนี้
            พลับพลาเปลื้องเครื่องนี้ ในศิลปะแบบบายน เห็นได้จากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้างหลักลวดลายกลีบบัวที่สลักบนหัวเสาและลายดอกไม้สี่กลีบบนยอดเสา เว้นแต่เศียรนาคที่กรอบหน้าบันสลักลายแบบ ศิลปะคลัง อายุประมาณ ต้นพุทธศตวรรณที่ 16 ซึ่ง่คงจะเป็นการนำของเก่ามาประดับอาคารหลังใหม่ การเอาของเก่ามาใช้เช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่พบทั่วไป     ทั้งที่อาคารอื่น ๆ ในปราสาทพนมรุ้ง และที่ปราสาทอื่น ๆ
         พลับพลาแห่งนี้เรียกกันทั่วไปว่า โรงช้างเผือก ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าปราสาทบนยอดเขาคือ พระราชวังของกษัตริย์แต่โบราณ ซึ่งมักจะมีโรงช้าง โรงม้าอยู่ข้าหน้า และที่เรียกกันว่าโรงช้างเผือก เพราะกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ย่อมจะมีช้างเผือกคู่บารมีอยู่ด้วย


ทางเดิน
           เป็นทางเดินเท้าที่ต่อมาจากบันไดชาลารูปกากบาท ที่อาจเป็น ซุ้มประตูชั้นนอก ทอดไปยังบันไดขึ้นสู่ปราสาท ปูพื้นด้วยศิลาแลง ขอบเป็นหินทราย ยาว 160 เมตร กว้าง 9.2 เมตร ขอบถนนทั้งสองข้ามีเสาหินทรายเรียกว่า เสานางเรียง มียอดคล้ายดอกบัวตูม สู่ง 1.60 เมตร จำนวน 68 ตัน ตั้งแรียงอยู่เป็นระยะ ๆ ตรงกันทั้ง 2 แถว ลักษณะเสาและทางเดินเช่นนี้พบที่ปราสาทหลายแห่งในประเทศกัมพูชา เช่นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทบันทายศรี และปราสาทพระขรรค์






สะพานนาคราช ชั้นที่ 1


สะพานนาคราชชั้นที่ 1 ก่อด้วยหินทราย ผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 8.20 เมตร ยาว 20.00 เมตร ยกพื้นสูงจากถนน 1.50 เมตร ด้านหน้าและด้านข้างลดชั้น มีบันไดเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกาเป็นทางขึ้น ส่วนด้านหลังเป็นชานกว้างเชื่อมต่อกับบันไดขึ้นปราสาท เสาและขอบสะพานสลักลวดลายงดงาม ราวสะพานทำเป็นลำตัวของพญานาค 5 เศียร หันหน้าออกแผ่พังพานทั้ง 4 ทิศ ลักษณะของเครื่องประดับพญานาคมีรัศมีเป็นแผ่นสลักลวดลายในแนวนอนอันเป็นลักษณะศิลปะกรรม แบบนครวัดซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17
       ทางทิศเหนือของสะพานนาคราช มีอัฒจันทร์รูปกากบาท เป็นทางลงสู่ฉนวนทางเดินไปยังสระน้ำ ลักษณะถนนนี้อัดดินแน่น แต่งของสองข้างด้วยศิลาแลง
       สิ่งที่น่าสนใจและเป็นจุดเด่นอีกอย่างที่สะพานนาคราชคือ ตรงกลางสะพานมีลายดอกบัวบาน 8 กลีบ จำหลักลงในเนื้อหินล้อมรอบด้วยยันต์ขีดเป็นเส้นคู่ขนานกันไปกับราวสะพาน หัวยันต์ขมวดเป็นรูปกลีบดอกบัว ลักษณะเช่นนี้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายอย่าง บ้างก็ว่ากลีบดอกบัวทั้ง 8 นี้อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดูหรืออาจเป็นยันต์สำหรับบวงสรวงและประกอบพิธีกรรม หรืออาจจะเป็นจุดกำหนดที่ผู้มาทำการบูชาเทพเจ้า ตั้งจิตอธิษฐานขอความคุ้มครองจากเทพเจ้าหรือขอพรอันศักดิ์สิทธ

บันไดขึ้นปราสาท
         ต่อจาก สะพานนาคราชชั้นที่ 1 อันเป็นจุดเชื่อมแห่งเทพเจ้า เป็นทางเดินขึ้นไปยังลานบนยอดเขาทำเป็นบันไดหินทราย สูง 10 เมตร มี 5 ขั้น จำนวน 52 ชั้น มีชานพัก 5 ชั้น บันไดและชานพักแต่ละชั้นลดหลั่นกัน ขึ้นไปตามลำดับความสูง ให้ความรู้สึกของยอดเขาที่สูงเสียดยอดขึ้นไป สู่สวรรค์ ทั้ง 2 ข้าง ของชานพักมีเสาหินทราย เจาะรูตรงกลาง สันนิษฐานว่าใช้สำหรับปักเสาธงในเวลาที่มีเทศกาลในพิธีกรรมต่าง ๆ หรืออาจเป็นเสาโคมไฟ






ทางสู่ปราสาท
    ถัดจากบันไดชั้นบนสุด เป็นลานกว้างอยู่หน้าระเบียงคด มีสระสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 5 x 5 เมตร จำนวน  4  สระ  ช่องสี่เหลี่ยม 4 ช่อง เกิดจากการทำทางเข้าตัดกันเป็นรูปกากบาทปัจจุบันปลูกบัวประดับไว้เพื่อความสวยงาม




สะพานนาคราช ชั้นที่ 2

ก่อนจะเข้าซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของระเบียงคดมีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 รับอยู่อีกช่วงหนึ่ง สะพานนาคราชช่วงนี้ยกระดับสู่ง 1.20 เมตร ผังและรูปแบบเหมือนกับสะพานนาคราชชั้นที่ 1 แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ กว้าง 5.20 เมตร ยาว 12.40 เมตร ที่ศูนย์กลางบนพื้นหินของสะพานจำหลักรูปดอกบัวบาน 8 กลีบ อยู่ในวงกลมล้อมรอบด้วยเส้นคู่ขนานตัดกันไปตามผังรูปกากบาท เช่นเดียวกัน มีทางขึ้นเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกา 3 ด้านส่วนด้านทิศตะวันตกเชื่อมต่อกับซุ้มประตูระเบียงคด

สะพานนาคราช  ชั้นที่  2  เชื่อมระหว่าง่ทางเดินเส้นกลางกับซุ้มกลาง ระเบียงคดทฺศตะวันออกซึ่งเป็นทางสำคัญ



ระเบียงคด

ก่อนจะถึงปราสาทประธานมีระเบียงคดก่อเป็นห้องยาว แต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้โดยตลอดเพราะทำผนังกั้นเป็นช่วง ๆระเบียงด้านทิศตะวันออกและตะวันตกมีผังอย่างเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายขนาดกว้าง 2.6 เมตร ยาว 59 เมตร ส่วนด้านทิศเหนือ-ทิศใต้ ซึ่งมี ผังคล้ายกัน ความยาว 68 เมตร โดยประมาณ มุงหลังคาเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปโค้งคล้ายประทุนเรือ แต่สลักด้านบนเลียบแบบหลังคากระเบื้องประดับสันหลังคาด้วยบราสีหินทราย แกะสลักเป็นรูปทรงคล้ายดอกบัวตูมระเบียงด้านทิศใต้ก่อด้วยหินทรายยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือก่อด้วยศิลาแลง ใช้หินทรายเป็นส่วนประกอบ เช่น กรอบประตู หน้าต่าง บัวรับหลังคา
           ระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มประตู (โคปุระ) ทางเข้าสู่ปราสาทอยู่ตรงกลางและยังมีประตูข้างอีกด้านละ 2 ประตู ยกเว้นด้านทิศใต้ให้เห็นเพียงประตูเดียว ระเบียงคดด้านทิศตะวันออกเจาะช่องตื้น ๆ สลักเป็นหน้าต่างปลอมที่ผนังด้านนอก ผนักงด้านในเจาะช่อง เป็นหน้าต่างจริงเป็นระยะ ๆ ส่วนด้านตะวันตกมีแต่หน้าหลอกทางด้านนอก ด้านทิศเหนือและใต้เจาะหน้าต่างที่ผนังด้านใน
          ซุ้มประตูกลางของระเบียงคดด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีมุขทั้งด้านในและด้านนอก ด้านข้างชักปีกออกไปต่อกับห้องของระเบียง จึงมีลักษณะ เป็นห้องรูปกากบาทรูปโค้งลดชั้นประดับสันหลังคาด้วยบราสีส่วนซุ้มประตูหรือโคปุระของระเบียงคดด้านทิศเหนือ และใต้ไม่มีมุข จึงมีลักษณเะเป็นห้องยาว ด้านทิศใต้เจาะประตู 3 ช่อง แต่ด้านเหนือเจาะเพียงช่องเดียว

         ที่มุมอันเป็นจุดบรรจบกันของระเบียงคดทำเป็นซุ้มรูปกากบาท เช่นเดียวกันซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศตะวันออกและตะวันตกแต่ขนาดเล็กกว่า มีให้เห็นอยุ่ 3 มุม ยกเว้นมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซุ้มมุมเหล่านี้จำหลักผนังด้านที่หันออกข้าง 2 ด้าน เป็นประตูหลอกเลียนแบบบานประตูไม้ 2 บานมีอกเลาอยู่ตรงกลาง
          ซุ้มประตูระเบียงคดเหล่านี้ ทั้งที่เป็นประตูจริง และประตูหลอกมีการจำหลักลวดลายที่หน้าบัน ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู และเสาติดผนัง เช่นเดียวกับที่ส่วนบนของผนังระเบียง ที่หน้าบันและทับหลังมักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ที่ส่วนอื่น ๆ มักเป็นลายพันธุ์พฤกษาซุ้มประตูข้าง (ซีกทิศเหนือ) ระเบียงคดทิศตะวันออก หน้าบันสลักภาพการรบระหว่างลิงกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์


สะพานนาคราช ชั้นที่ 3

เมื่อผ่านซุ้มประตูกลางของระเบียงคดเข้ามาจะถึงสะพานนาคราชชั้นที่ 3 ซึ่งอยู่ด้านหน้าปราสาทประธาน มีลักษณะเหมือนกับสะพานนาคราชทั้ง 2 ชั้น แต่มีขนาดเล็กลงคือ ขนาดกว้าง 3.40 เมตร ยาว 9.9 เมตร แต่พื้นกลางสะพานไม่จำหลักลายกลีบดอกบัวสะพานนาคราชช่วงสุดท้าย  เชื่อมระหว่างโคปุระด้านทิศตะวันออกกับปราค์ประะานฌศียรนาคราชประดับราวสะพาน  เป็นนาคราช  5  เศียร  มีรัศมีเช่นเดียวกับสะพานนาคราชช่วงก่อน  ๆ





ปราสาทประธาน

ปราสาทประธานเป็นสถาปัตยกรรมหลักที่สำคัญที่สุดตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อ มุมขนาดกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร มีมุข 2 ชั้น ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนทางด้านหน้า คือ ทิศตะวันออกทำเป็นอาคารมีแผนผัง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 8 x 10 เมตร  ในตำแหน่งเดียวกันกับสถาปัตยกรรมต้นแบบของอินเดีย ซึ่งเป็นอาคารมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ที่เรียกว่า มณฑป  โดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมขนาด 3.60 x 8.10 เมตร กับปราสาทประธาน มณฑปยังมีมุขอยุ่ทางด้านหน้าอีกที่หนึ่ง ส่วนต่าง ๆ ทั้งหมดของปราสาทประธานตั้งอยู่บานฐาน 2 ขั้น ย่อมุมรับกันกับอาคาร

    ตามแผนผังเช่นนี้มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 เหมือนกันกับแผนผังของผังปราสาทพิมาย เฉพาะองค์ปราสาท ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนฐานเรือนธาตุ และส่วนยอด
           ส่วนฐาน ประกอบด้วยฐานเชียงและฐานปัทม์ หรือ ฐานบัวเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นสลักลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายกลีบบัว ลายประจำยาม

เรือนธาตุ คือส่วนที่อยู่ถัดขึ้นไปจากฐาน เป็นบริเวณที่เข้าไปภายในได้ห้องภายในนี้ถือเป็นห้องสำคัญที่สุด เรียกว่าห้อง ครรภคฤหะ (garbhagrha) เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของศาสนสถานซึ่งในที่นี้คงจะได้แก่ศิวลึงค์ แต่ปัจจะบันเหลืออยู่เพียงร่องรับน้ำสรง ต่อท่อลอดพื้นห้อง ผ่านลานปราสาทออกไปนอกระเบียงคดด้านทิศเหนือเรียกว่าท่อโสมสูตร
          ส่วนยอดหรือเรือนยอด ทำเป็นชั้น ๆ (ชั้นเชิงบาตร) ลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนยอดสลักเป็นรูปดอกบัวรองรับนภศูลที่สูญหายไปนานแล้ว ที่ชั้งเชิงบาตรแต่ละชั้นประกอบด้วยซุ้มและกลีบขนุน จำหลักเป็นรูปเศียรนาคฤษี (โยคี) เทพสตรี และเทพประจำทิศต่าง ๆ

        กลีบขนุนปรางค์ที่ประดับตามมุมของ แต่ละชั้นจะสลักให้สอบเอนไปข้างหลัง เป็นเหตุให้ยอดปรางค์มีรูปทรงเป็นพุ่ม
            ส่วนประกอบอื่น ๆ ขององค์ปราสาทได้แก่ มุขปราสาทด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ตลอดจนมณฑปด้านหน้า มุงหลังคารูปโค้งลดชั้น เช่นเดียวกับซุ้มประตูระเบียงคดหรือโคปุระ
          องค์ปราสาทและส่วนประกอบทั้งหมดมีประตูกับเป็นชั้น ๆ อยู่ในแนวตรงกันทุกทิศมณฑปและอันตราละมีประตูช้างทางทิศเหนือและทิศใต้ข้างละ 1 ประตู มีร่องรอยว่าประตูเหล่านี้เคยมีบานประตูไม้ชนิดที่มี 2 บาน มีอกเลาตรงกลางเหมือนกับภาพสลักประตูหลอกที่ระเบียงคด

ที่หน้าประตูด้านนอกทุกทิศมีหลุมสำหรับติดตั้งประติมากรรมขนาบอยู่ 2 ข้าง ประติมากรรมที่ติดตั้งไว้ที่นี่คงจะได้แก่รูป ทวารบาลซึ่งมีหน้าที่เฝ้าวิมานของเทพเจ้าและที่พื้นหน้าประตูมุขของมณฑปมีอัฒจันทร์จำหลักเป็นรูปดอกบัว 8 กลีบ 3 ดอก น่าจะมีความหมายพิเศษ จึงไม่น่าที่จะใช้ประตูนี้เป็นทางเข้าสู่ห้องภายในมณฑป ประตูที่ใช้เป็นทางเข้าสู่มณฑปจึงได้แก่ประตูข้างทางด้านทิศเหนือและทิศใต้
           ส่วนต่าง ๆ ของปราสาทประธาน ตั้งแต่ฐาน ผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลังหน้าบันซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดขนกลีบขนุนล้วนสลักลวดลายประดับ มีทั้งลวดลายดอกไม้ใบไม้ที่เรียกว่าลายพันธุ์พฤกษา ภาพบุคคลซึ่งได้แก่เทพต่าง ๆ เช่นเทพประจำทิศและภาพเล่าเรื่อง่ตามคัมภีร์ทางศาสนาเช่นเรื่องมหาภารตะ เรื่องของพระศิวะ เรื่องของพระวิษณุ ซึ่งมักเป็นเรื่อง อวตาร ปางต่าง ๆ ของพระองค์โดยเฉพาะปางรามาวตารหรือ รามายณะ ที่เรารู้จักกันในชื่อรามเกียรติ์ ดูเหมือนจะมีมากเป็นพิเศษอาจจะเนื่องจากเป็นเรื่องที่นิยมเล่ากันแพร่หลายมากที่สุดในสมัยนั้นก็เป็นได้
          จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของปราสาทประธานพอจะกำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17

ปรางค์น้อย




      ตั้งอยู่ใกล้กับปราสาทประธานด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้สร้างเป็นปราสาทสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมขนาด 6 x 6 เมตร สูง 5.5 เมตร ส่วนยอดชำรุดเข้าใจว่าเมื่อมีการก่อสร้างในสมัยหลังได้รือเอาหินส่วนยอดปรางค์องค์นี้ซึ่งขณะนั้นอาจอยู่ในสภาพที่ผังลงมาบ้างแล้วไปใช้ในที่อื่น การนำชิ้นส่วนเก่าไปใช้สร้างอาคารใหม่เช่นนี้มีให้เห็นอีหลายแห่งเป็นต้นว่า  เราได้พบชิ้นส่วนหินทรายที่มีสภาพงดงามปูพื้นทางเดินโดยางคว่ำไว้ และได้พบศิลาจารึกเป็นส่วนประกอบของอาคารเป็นต้น แสดงว่าได้มีการนำชิ้นส่วนของอาคารเดิมที่อาจพังลงมาไปไว้ใช้ก่อสร้างอาคารใหม่ในสมัยต่อมาปราสาทองค์นี้ก่อด้วยหินทรายกรุผนังด้านในด้วยศิลาแลง มีประตูเข้าได้ทั้งเดียวคือ ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้า  ส่วนด้านอื่น ๆ ก่อผนังทึบแต่สลักเป็นประตูหลอก
    ภายในห้องมีแท่นฐานหินทรายสำหรับประดิษฐานรูปเคารพภาพจำหลักประดับส่วนต่าง ๆ ขององค์ปราสาทต่างกันกับปราสาทประธาน ซึ่งหน้าบันจะจำหลักภาพบุคคลแต่ปรางค์น้อย หน้าบันจะจำหลักลายพันธุ์พฤกษาเป็นส่วนใหญ่โดยมีภาพบุคคลขนาดเล็กอยู่ตรงกลางค่อนมาทางด้านล่าง เช่น ที่หน้าบันด้านทิศตะวันออกจำหลักเป็นรูปบุคคลยกแขนซ้ายขึ้นท่ามกลางลวดลายพันธุ์พฤกษาข้างล่าง ของภาพบุคคลเป็นรูปหน้ากาลหรือเกียรติมุข
      ภาพบุคคลดังกล่าวคงแสดงภาพ พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะในเรื่อง กฤษณาวตาร เศียรนาคกรอบหน้าบันทำเป็นเศียรนาคเกลี้ยงไม่มี รัศมีลักษณะดังกล่าวประกอบกับลักษณะของลวดลายจำหลักบนทับหลังตรงกับรูปแบบทางศิลปะเมมรแบบบาปวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16  โดยมีลักษณะของแบบศิลปะก่อนหน้านั้น คือ แบบเกลียงหรือคลัง ปะปนอยู่บ้าง ทำให้สามารถกำนดอายุได้ว่าปรางค์น้อยคงจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ก่อนหน้าปราสาทประธาน

ปราสาทอิฐ 2 องค์
ใกล้ ๆ กับปราสาทประธานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีฐานปราสาทก่อด้วยอิฐอยู่ 2 องค์  องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกขนาด 5 x 5  เมตร อีกองค์หันหน้าไปทางทิศตะใต้ขนาด  5 x 5  เมตร
ปราสาทอิฐ   2 หลังนี้  มีเสาประดับกรอบประตูที่ทำด้วยหินทราย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้ศึกษาพบว่า  น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15  และพบประติมากรรมหินทราย 2 รูป มีลักษณะศิลปะที่มีอายุใกล้เคียงกันจึงกว่าวได้ว่าปราสาทอิฐคงจะสร้างขึ้นในช่วงนั้น  คือ  ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 นับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุที่มีอายุเก่าที่สุดที่เหลืออยู่



วิหารหรือบรรณาลัย 2 หลัง
ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง  มีประตูเข้าออก ด้านเดี่ยว ภายในไม่มีรูปเคารพหลังคาทำเป็นรูปประทุนเรือโดยการวางหินซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปบรรจบกันแบบเดียวกับหลังคาระเบียงคด อาคารหลังที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกมีขนาด 11.60 x 7.10  เมตร  สูง  5  เมตร ส่วนหลังที่อยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ มีขนาด  14.50 x 8.50  เมตร  สูง  3  เมตร  หันหน้าไปทางทิศใต้อาจเพื่อหลีกเลี่ยงปราสาทเก่า  2  หลัง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น
         อาคารลักษณะนี้ในศิลปะเขมรเรียกว่า บรรณาลัย หมายถึง   ที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในสมัยบายนพุทธศตวรรษที่  18


การได้ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืน  จากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก


การได้ทับหลังนานายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้งคืน  จากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก  ประเทศหสรัฐอเมริกานั้น   เป็นผลมาจากการร่วมมือรณรงค์ของคนจำนวนมาก  หลายชาติหลายภาษา  ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศไทย  นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ  ที่มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญชิ้นนี้ได้กลับสู่ประเทศไทยผู้เป็นเจ้าของ
          หลักฐานที่สำคัญที่สามารถยืนยันได้ว่า  ทับหลังชิ้นนี้เป็นของปราสาทพนมรุ้ง  ได้แก่  ภาพถ่ายที่ถ่ายไว้ครั้งสมเด็จฯ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสด็จประพาสปราสาทพนมรุ้ง  เมื่อวันที่  26  มกราคม  2472  เป็นภาพถ่ายทับหลังที่แตกหักเป็น  2  ชิ้น  ภาพถ่ายนี้เหมือนกับที่นายมานิต  วัลลิโภดม  ได้ถ่ายไว้  เมื่อ  พ.ศ.  2503  ปรากฏในหนังสือรายงานการนสำรวจขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาค  2  พ.ศ.  2503 - 2503

ในช่วงระหว่างปีก  พ.ศ.  2504 - 2508  ได้มีการโจรกรรมทับหลังนารายบรรทมสินธุ์  ที่แตกหักเป็น  2  ชิ้นนี้ไปจากปราสาทพนมรุ้ง  ในปี  พ.ศ.  2508  กรมศิลปากร  ได้ยืดเอาทับนารายณ์บรรทมสินธุ์  ที่แตกออกเป็น  2  ชิ้น  โดยได้ยืดเอาทับหลังชิ้นเล็กจากร้านกรุงเก่า  (ที่ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า  Capital Antique)  แถบราชประสงค์กรุงเทพฯ  ส่วนทับหลังชิ้นใหญ่ที่มีการจำหลักนารายณ์บรรทมสินธุ์นั้นไม่ได้พบในเวลานั้น  จนกระทั่งต่อมาในปี  พ.ศ.  2515  ศาสตราจารย์  ม.จ.สุภัทรดิศ  ดิศกุล  และดร.ไฮแรม  วูดเวิร์ด  (Hiram  Woodword)  ได้พบทับหลังชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโกประเทศสหรัฐอเมริกา  จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่สถาบันฯ  ทราบ  ต่อมา  ดร. ไฮแรม  วูดเวิร์ด  เขียนแจ้งสถาบันฯเป็นลายลักษณ์อักษร  ศาสตราจารย์  ม.จ. สภัทรดิศ  ดิศกุล  ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงกรมศิลปากร  แนะให้ขอคืนจากนายเจมส์  อัลสดอร์ฟ  (James  Alsdorf)  ประธานมูลนิธิ  อัลสดอร์ฟ  (Als  dorf  Foudation)  ที่ให้สถาบันฯ  ยืมแสดงในขณะนั้น
           ในระหว่างปี  พ.ศ.  2516 - 2521  กรมศิลปากรได้ดำเนินการต่าง  ๆ  เพื่อขอคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นนี้  ตั้งแต่ทำหนังสือและส่งหลักฐานยืนยันต่าง  ๆ  ถึงรัฐบาลสหรัฐ  ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ  และสถานทูตไทยในอเมริกา  ถึงผู้ว่าอำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเอเชียของยูเนสโกประเทศญี่ปุ่น  และถึงเลขาธิการสภาพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ  (International  Council  of Museums  (ICOM)  ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก  แต่ก็ไม่เป็นผลเนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นมิได้เข้าร่วมภาคีแห่งอนุสัญญาขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ  ว่าด้วยวิธีการในการห้ามและป้องกันการนำเข้า  การส่งออก  และการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฏหมาย
          จนกระทั่งต่อมาในปี  พ.ศ.  2530  เมื่อการบูรณะปราสาทพนมรุ้งด้วยวิธีอนัสติโลซีสเกือบจะเสร็จสมบูรณ์  และเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งได้  การดำเนินการทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงได้เริ่มขึ้นจากการริเริ่มของคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร  โดยมีการทำหนังสือโยตรงถึงผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก  ได้ยืนยันว่า  ทางสถาบันได้รับทับหลังชิ้นนี้มาอย่างถูกต้องแต่พร้อมที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นมิตร  โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุ  ที่มีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกัน  ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกรมศิลปากรได้มีมติเรื่องนี้ว่า  กรมศิลปากรจะไม่ดำเนินการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเป็นอันขาด  แต่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา  ยินดีจะจำลองประติมากรรมที่มีความสำคัญทางศิลปะให้คุณค่าทางการศึกษาเป็นการตอบแทน  การดำเนินการในระยะนี้ได้รับความสนใจและร่วมผลัพดันเต็มที่จากสื่อมวลชนทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา
          เดือนมีนาคม  พ.ศ.  2531   กระทรวงศึกษาธิการได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืน  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  (นายมารุต  บุนนาค)  เป็นประธานกรรมการ  การเจรจาในระยะนี้  ทางสถาบันศิลปะฯ  ยังคงยืนยันที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุ  ซึ่งทางคณะกรรมการฯ  ได้มีมติว่า  ถ้าทางสถาบันศิลปะฯ  ส่งทับหลังคืนทางคณะกรรมการฯ  จะส่งศิลปวัตถุที่มีอายุใกล้เคียนหรือเก่ากว่าและมีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมให้สถาบันฯ  ยืมเพื่อจัดแสดงเป็นการชั่วคราว  โดยได้ส่งรูปโบราณวัตถุให้ทางสถาบันศิลปะฯ คัดเลือก

ทางสถาบันศิลปะได้มีความสนใจในเสมาแสดงภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบัลพัศด์  ซึ่งพบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  จังหวัดกาฬสินธุ์  ที่ทางไทยส่งภาพให้โดยแจ้งความประสงค์จะขอแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุชิ้นนี้กับทับหลังทางคณะกรรมการฯ  มีมติไม่ยินยอมตามข้อเสนอดังกล่าว
            เดือนมิถุนายน  พ.ศ.  2531   กรทรวงศึกษาธิการโดยกรมศิลปากรได้มีการประชุมและเสนอแนวทาง        แก่คณะกรรมการฯ  โดยมีสาระสำคัญ  คือ เจรจาให้สถาบันคืนทับหลังโดยไม่มีเงื่อนไข  ซึ่งถ้าทางสถาบันยินยอม    ประเทศไทยโดยกรมศิลปากรยินดีจะให้ความร่วมมือทางวิชาการตามแนวทางการบริหารงานพิพิธภัณฑ์สากล  โดยการให้ยืมศิลปวัตถุเพื่อจัดแสดงเป็นการชั่วคราว  และได้มีการแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายไทย  ไปเจรจากับทางสถาบัน           ผลการเจรจา  ไม่เป็นที่ตกลงกัน
          มีการประชุมสภาเมืองชิคาโก  ในเรื่องทับหลัง  มีผู้ที่ให้การสนับสนุนฝ่ายไทยเป็นจำนวนมาก  ทั้งที่เป็นกรรมการกรณีทับหลัง  หรือบุคคลภายนอกที่เป็นทั้ง  ชาวต่างชาติ  รวมทั้งชาวอเมริกกันเองด้วย  ด้วยแรงกดดันต่าง  ๆ  เหล่านี้  และจากสื่อมวลชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ  ทางสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก  จึงได้ส่งมอบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนให้แก่  รัฐบาลไทยในวันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2531  และได้นำเอาทับหลังชิ้นนี้กลับไปติดตั้งยังที่เดิม ณ องค์ปราสาทประะานพนมรุ้ง  ในวันที่  7  ธันวาคม  ปีเดียวกันนั้นเอง



ขอขอบคุณ
ที่มา: http://www.buriram.go.th/tr_phanomrung/menu.htm

3 ความคิดเห็น:

สุดยอดของความคิด

อยากทราบเรื่องราวของพญาสุวรรณนาคราชและนางพญาแก้วคำกลองนาคิณีอย่างลึกซึ้งละเอียดโดยไม่ copy จาก google มาตอบให้ค่ะ

แสดงความคิดเห็น

 
ขอขอบคุณ http://www.youtube.com : เพลงพระทอง-นางนาค / พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์