วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สวดมนต์เพื่ออะไร



        เราสวดมนต์กันมาก สวดถูกบ้างผิดบ้าง สวดสิ่งที่ควรสวดบ้างไม่ควรสวดบ้าง เพราะความไม่รู้ แล้วแต่ผู้ที่เคารพนับถือจะแนะนำให้สวดอะไร ก็มักจะสวดกันไป โดยไม่รู้ความหมายด้วย บางทีก็ใช้เวลานานและยากที่จะจำ แต่ว่าเชื่อ มีศรัทธาในบทสวดมนต์ว่าขลังและศักดิ์สิทธิ์ สามารถจะบันดาลประสิทธิ์ประสาทสิ่งที่ต้องการให้ได้ตามคำโฆษณาที่เขาเขียน เอาไว้บ้างพูดเอาไว้บ้าง ในหนังสือสวดมนต์นั้น ๆ ก็มี

การสวดมนต์เป็น “วิธีการ” อันหนึ่งในการทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ “พิธีการ” วิธีการกับพิธีการไม่เหมือนกัน เดี๋ยวจะอธิบาย
การสวดมนต์ เป็นวิธีการอันหนึ่งในการทำจิตให้สงบ เป็นบริกรรมสมาธิ ถ้าจุดมุ่งหมายอันนี้ จะสวดอะไรก็ได้ เพื่อให้จิตสงบ คือทำสมาธิโดยวิธีบริกรรม หมายถึง สวดเบา ๆ สิ้นมนต์ไปบทหนึ่ง ๆ ว่าซ้ำ ๆ จนจิตใจจดจ่ออยู่กับบทนั้น ไม่วอกแวกไปที่อื่น จะสวดบทเดียวหรือหลายบทก็ได้ ให้จิตใจจดจ่ออยู่กับบทสวดเป็นใช้ได้ เหมือนท่องหนังสือ หรือท่องสูตรคูณ

       ตัวอย่างที่นิยมสวดกันทั้งฝ่ายพระ ฝ่ายฆราวาส และเป็นบทที่ดี เช่น บทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อิติปิโส ภควา ถ้าเราสวดคนเดียว ต้องการให้เป็นสมาธิ ก็สวดเบา ๆ สวดกลับไปกลับมา ๒๐-๓๐ เที่ยวก็ได้
    เดิมทีเดียว คำสอนของพระพุทธเจ้ายังไม่ได้จารึกลงเป็นตัวอักษรในใบลาน พระสาวกนำพาพระพุทธพจน์มาโดยการถ่ายทอดจากอาจารย์ไปยังศิษย์โดยการท่องจำ ท่องเป็นกลุ่ม ๆ และช่วยกันจำ ถ้าเป็นหนังสือสมัยนี้ก็เรียกว่าท่องกันเป็นเล่ม ๆ สมัยก่อนนี้เขาบอกกันให้จำ เขาเรียกว่าไปต่อหนังสือ
     บางทีวัดหนึ่งก็มีหนังสืออยู่เล่มเดียวที่กุฏิเจ้าอาวาส ลูกศิษย์ไม่มีหนังสือ ลูกศิษย์ก็ต้องไปต่อหนังสือ คืนนี้ได้แค่นี้ พออีกคืนหนึ่งก็ไปต่อ อาจารย์ก็ว่านำ ลูกศิษย์ก็ว่าตาม ท่องจำ ก็จำกันได้เป็นเล่ม สวดมนต์ฉบับหลวงเล่มใหญ่ ๔๐๐-๕๐๐ หน้า บางคนก็จำได้หมด ท่องหลายปี ท่องไปเรื่อย ๆ เพราะว่าบวชอยู่เรื่อย ๆ
     คนที่ไม่ได้บวช หรือว่าสึกแล้ว แต่ว่ายังมีฉันทะยังมีศรัทธา ยังอุตสาหะในการที่จะท่องจำ ก็ท่องต่อไปเรื่อย ๆ ก็จำได้เยอะ จำได้มากอย่างไม่น่าจะจำได้ เป็นที่ประหลาดใจของคนที่ได้ยินได้ฟังว่าจำได้อย่างไร ไม่มีเทคนิคลี้ลับอะไรหรอก เพียงแต่ว่ามีฉันทะอุตสาหะในการท่องเท่านั้น ไปเห็นอะไรดี ๆ ก็ท่องเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์กับการสวดบ้าง เพื่อการเพ่งพินิจเนื้อความบ้าง ท่องจำแล้วก็ง่ายกับการที่จะเพ่งพินิจเนื้อความ
      เพราะฉะนั้น ในองค์ของพหูสูต ท่านจึงมีอยู่ข้อหนึ่งว่า ธตา จำได้ วจสา ปริจิตา ว่าได้คล่องปาก มนสานุเปกฺขิตา เพ่งพินิจในใจ เอาใจไปเพ่งพินิจเนื้อความ ว่าเนื้อความนี้มีความหมายอย่างใด ไม่ต้องไปเปิดหนังสือก็ช่วยประหยัดเวลาได้เยอะ

การท่องจำพระพุทธพจน์นั่นเอง ก็กลายมาเป็นบทสวดมนต์ในภายหลัง

บทสวดมนต์เช้า สวดมนต์เย็น ส่วนมากแต่งขึ้นในภายหลัง พระท่านก็จะสวดเหมือนกัน สวดเป็นบทต้น ๆ พอไปกลาง ๆ พระท่านจะสวดพระพุทธพจน์ เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร ธรรมนิยามสูตร โลกธรรมสูตร อะไรที่มีเนื้อธรรมดี ๆ ท่านจะสวดหลัง ๆ ของการสวดมนต์

ท่านลองเทียบดูกับการสวดปาติโมกข์ก็ได้ คือเป็นการท่องวินัย ๒๒๗ ข้อ ท่ามกลางสงฆ์ทุก ๑๕ วัน ต้องท่องเร็วมากเลย มีผู้ทบทวนอยู่ข้างธรรมมาสน์ องค์ที่สวดก็พนมมือ ไม่มองใคร สวดเรื่อยไป ส่วนมากโดยเฉลี่ยก็ ๔๕ นาทีถึงจะจบ จบแล้วก็เหนื่อย เพราะว่าสวดไม่หยุดเลย เร็วด้วย เร็วกว่าสวดมนต์

เมื่อก่อนนี้ท่าน สวดพร้อมกัน และรู้ความหมาย เพราะเป็นภาษาของท่านเอง ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนามาอยู่ในเมืองไทย เราก็สวดเพื่อจะรักษาธรรมเนียมเดิมเอาไว้ นี่หมายถึงการสวดมนต์นะครับ แต่ส่วนมากไม่รู้ความหมายว่าสวดอะไร เพราะไม่ใช่ภาษาของเรา และก็ไม่ได้เรียน ไม่เข้าใจ การสวดปาติโมกข์จึงกลายเป็นพิธีการ ไม่ใช่วิธีการ เป็นพิธีการ พิธีกรรม โดยที่ผู้สวดก็ไม่รู้เนื้อความ ผู้ฟังก็ไม่รู้เนื้อความ แต่ว่าต้องสวดเป็นพิธีการ หรือเป็นวินัยบัญญัติว่าต้องสวดปาติโมกข์ หรือทบทวนวินัยทุก ๑๕ วัน

เมื่อก่อนนี้ ท่านฟังไป ๆ ท่านรู้เรื่อง ถ้าพระองค์ไหนท่านรู้ว่าต้องอาบัติอะไร ก็สะกิดเพื่อนมา ไปปลงอาบัติใกล้ ๆ นั้นเอง และผู้ที่สวดก็ต้องหยุดสวด

แต่ว่าเวลานี้ ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าปลงอาบัติกันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว แล้วค่อยเข้าไปฟังปาติโมกข์

การสวดมนต์หรือ สวดพระปริตรต่าง ๆ ส่วนมากก็มุ่งไปทางพิธีการ คือทำพิธี มุ่งเอาความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลให้สำเร็จผลด้วยมนต์นั้น แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่มีใครรับรอง มีแต่ความเชื่อ ผู้สวดเองก็ไม่กล้ารับรอง แต่เราก็นิยมเรื่องการสวดมนต์เพื่อความขลังและศักดิ์สิทธิ์อยู่

ศักดิ์สิทธิ์ ตามพจนานุกรม แปลว่า ขลัง แล้วขลังแปลว่าอะไร ขลัง แปลว่า มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์ จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ “เชื่อกันว่า” บางทีก็สวดเพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสต่าง ๆ สวดเพื่อป้องกันและทำลายทุกข์โศกโรคภัยและให้สำเร็จสมบัติทั้งปวง ดังคำอาราธนาพระปริตรที่ทำกันอยู่ ท่านว่า

วิปัตติปะฏิพาหายะ
สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะทุกขะวินาสายะ
ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ
สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะภะยะวินาสายะ
ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ
สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะโรคะวินาสายะ
ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

แปลว่า ขอท่านทั้งหลายสวดพระปริตรเพื่อป้องกันวิบัติ หรือต่อต้านวิบัติ หรือทำลายวิบัติ เพื่อให้สำเร็จสมบัติทั้งปวง เพื่อความพินาศแห่งทุกข์ทั้งปวง เพื่อความพินาศแห่งภัยทั้งปวง

นี่คือจุดมุ่งหมายแห่งการสวดพระปริตรเพื่อความพินาศแห่งทุกข์ทั้งปวง แห่งโรคทั้งปวงแห่งภัยทั้งปวง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง

นี่คือจุดมุ่งหมายแห่งการสวดพระปริตรเพื่อความพินาศแห่งทุกข์ทั้งปวง แห่งโรคทั้งปวง แห่งภัยทั้งปวง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง

จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่มีใครรับรองแต่ก็มีความเชื่อ ถ้าจะถามว่าการสวดพระปริตรจะให้สำเร็จผลตามประสงค์ได้หรือไม่ ในคัมภีร์มิลินทปัญญา พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามเรื่องนี้กับพระนาคเสนเหมือนกัน พระนาคเสนก็ถวายพระพรตอบว่า

จะให้สำเร็จผล ต้องมีเงื่อนไข ๓ อย่างคือ
๑. ต้องมีความเชื่อ
๒. ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกางกั้น เรียกว่า กรรมวรณ์
๓. ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกางกั้น เรียกว่า กิเลสาวรณ์

ถ้าไม่เชื่อ พระปริตรก็ไม่สำเร็จ หรือถ้ามีกรรมเป็นเครื่องกางกั้น คือกรรมชั่วมันจะให้ผล ป้องกันก็ไม่ได้ เพราะ นัตถิ กัมมะ สมัง พลัง ไม่มีกำลังใดเสมอด้วยกำลังกรรมหรือว่ามีกิเลสเป็นเครื่องกางกั้น คือว่ากิเลสรุนแรง เดี๋ยวจะเล่าเรื่องให้ฟังให้เห็นว่ากิเลสรุนแรง มันป้องกันไม่ได้อย่างไร

ปัญหาว่าองค์ ๓ ที่ว่านั้นเป็นของใคร คือ เป็นของผู้สวด ผู้ทำพิธี หรือว่าเป็นของผู้รับทำพิธี    

หมายความว่า ที่ว่าไม่เชื่อนั้นใครไม่เชื่อ ผู้สวดไม่เชื่อหรือผู้รับพิธีไม่เชื่อ เช่น นิมนต์พระมาทำพิธี ท่านที่สวดเองท่านก็ไม่เชื่อ หรือว่าคนฟังไม่เชื่อ

ที่ว่ากรรมนั้นเป็นกรรมของใคร กรรมของผู้ทำพิธี หรือกรรมของผู้รับพิธี

ที่ว่ากิเลสนั้นเป็นกิเลสของใคร กิเลสของผู้ทำพิธี หรือว่าเป็นกิเลสของผู้รับพิธี

นี่ทิ้งเอาไว้ให้คิดกันดูนะครับ

กล่าวถึงในพระไตรปิฎก พบเรื่องพระมหากัสสปะ และพระมหาโมคคัลลานะป่วย พระพุทธเจ้าทรงทราบเข้า เสด็จไปเยี่ยมทรงแสดงหรือตรัสโพชฌงค์ ๗ ประการ เมื่อจบลงพระมหากัสสปะ พระมหาโมคคัลลานะหายป่วย หายจากทุกขเวทนากล้าแข็ง อันนี้ปรากฏในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ หน้า ๑๑๓ – ๑๑๕

พระมหากัสสปะป่วยอยู่ที่ถ้ำปิปผลิ พระมหาโมคคัลลานะป่วยอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจากเวฬุวัน ไปเยี่ยมทั้งสองท่าน

ในเมืองไทยก็นิยมสวดโพชฌงค์ให้กับผู้ป่วยเหมือนกัน เมื่อผู้สูงอายุป่วย ญาติพี่น้องมักจะนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดโพชฌงค์ ผู้ป่วยหายบ้าง ตายบ้าง สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยของผู้ป่วยนั่นเอง

ทำไมพระเหล่านั้น ท่านฟังโพชฌงค์แล้วท่านหาย แต่ทำไมผู้ป่วยในเมืองไทยนี้ส่วนมากตาย ส่วนน้อยหาย ที่หายนั้นก็คือถึงแม้จะนิมนต์พระมาสวดหรือไม่สวดโพชฌงค์ก็หายเองอยู่ได้ บ้างแล้ว ที่ตายนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าโพชฌงค์ ๗ นั้นมีบริบูรณ์อยู่ในพระอรหันต์เหล่านั้น แต่ว่าผู้ป่วยของเรานั้นมีโพชฌงค์อยู่บ้างหรือเปล่า

โพชฌังโค สติสังขาโต
ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ
โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สมาธุเปกขะโพชฌังคา

องค์ธรรมของโพชฌงค์ ๗ คือ สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัทสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ผู้ป่วยมีองค์ธรรมเหล่านี้ไหม ถ้าไม่มี ก็คือเหตุปัจจัยมันไม่พร้อม ก็เพียงแต่ทำพิธีไปเท่านั้นเอง

บางคราวพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงป่วยเอง รับสั่งให้พระจุนทะน้องชายพระสารีบุตรสวดโพชฌงค์ถวาย ก็ปรากฏว่าทรงพอพระทัยและหายป่วยเหมือนกัน นี่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ หน้า ๑๑๖

ท่านผู้เป็นมหาบุรุษทั้ง ๓ นี้หายป่วย เพราะได้ฟังโพชฌงค์ เพราะเหตุใดฟังโพชฌงค์แล้วจึงหาย เพราะท่านมีโพชฌงค์ ๗ ประการอยู่เต็มบริบูรณ์

แต่คนธรรมดาเรา มีโพชฌงค์อยู่เท่าใดหรือไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเอาอะไรมาเป็นยาหรือเป็นธรรมโอสถสำหรับรักษา คุณสมบัติภายในไม่เหมือนกัน แม้ทำอาการภายนอกให้เหมือนกัน ผลก็ไม่เหมือนกัน เหมือนผลไม้พลาสติกกับผลไม้จริง ซึ่งดูอาการภายนอกมันเหมือน แต่ผลไม้พลาสติกมันกินไม่ได้ ความสำเร็จประโยชน์ในการบริโภคไม่เหมือนกัน        

เพราะฉะนั้น การทำอะไรแต่เพียงแค่พอเป็นพิธี กับการทำเพราะเข้าใจความหมายอันแท้จริง จึงได้ผลไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน

อีกครั้งหนึ่ง ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี พระคิริมานนท์ป่วยหนัก พระอานนท์ไปเยี่ยมแล้วกลับไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปเยี่ยมพระคิริมา นนท์ แต่พระศาสดาไม่ได้เสด็จไป ทรงให้พระอานนท์ท่องสัญญา ๑๐ ประการ สัญญาในที่นี้หมายถึงข้อพิจารณา ไม่ใช่สัญญาแบบหนังสือสัญญาในภาษาไทย

ข้อพิจารณา ๑๐ ประการ มีอนิจจสัญญา เป็นต้น คือว่าพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ไปจนถึงการเจริญอานาปานสติเป็นที่สุด ให้ไปกล่าวบอกเล่าแก่พระคิริมานนท์ พระคิริมานนท์ฟังแล้วก็หายอาพาธเหมือนกัน

ถ้าจะสงสัยว่าทำไมพระศาสดาไม่ให้พระอานนท์แสดงโพชฌงค์แก่พระคิริมานนท์ สันนิษฐานว่าทรงมีพระญาณกำหนดรู้อินทรีย์คือ ความพร้อมและอาลัยอนุสัยของพระสาวกว่าผู้ใดควรโปรดด้วยธรรมใด อาลัยคือความโน้มเอียง อนุสัยคือความรู้สึกส่วนลึกหรือกิเลสที่อยู่ส่วนลึก ควรโปรดด้วยธรรมใดจึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ เหมือนกับหมอให้ยาคนไข้ให้ถูกกับโรคของเขา

ข้อความในพระสูตรหลายสูตร เช่น กรณียเมตตสูตรที่กล่าวถึงเรื่องเมตตา พระรัตนสูตร ขันธปริตร โมรปริตร เป็นต้น ที่พระนิยมสวดในพิธีต่าง ๆ ก็มีเรื่องเล่าประกอบถึงเหตุที่ตรัสไว้ และปรากฏในอรรถกถาและอรรถกถาชาดกบ้าง เช่น กรณียเมตตสูตรก็รู้จักกันแพร่หลายว่า พระไปอยู่ป่าและถูกผีหลอกเพราะว่าไปแย่งที่อยู่ของเขา อยู่ไม่ได้ กลับมา พระพุทธเจ้าก็ประทานโอวาทในกรณียเมตตสูตร ถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุสันตบทหลายข้อด้วยกันและให้แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ ปรากฏว่าพระไปอยู่ป่าได้ ผีไม่หลอก รุกขเทวดาก็เมตตา ได้คุ้มครองให้อยู่เป็นสุข

รัตนสูตร ก็มีเรื่องเล่าถึงว่า เกิดทุพภิกขภัยขึ้นในเมืองเวสาลี พระพุทธเจ้าได้ให้พระอานนท์ไปสวดรัตนสูตร ภัยพิบัติก็ค่อย ๆ ลดลง

ขันธปริตร เกี่ยวกับการแผ่เมตตาให้สัตว์ร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองู งูก็ไม่กัดเรื่องก็มีว่า ภิกษุถูกงูกัด พระพุทธเจ้าทรงประทานพุทธมนต์ คือขันธปริตร แผ่เมตตาไปให้พวกงูตระกูลต่าง ๆ พระพุทธเจ้าบอกว่าแผ่เมตตาไปให้งู แล้วงูจะไม่กัด

ที่จริงสัตว์พวกนี้กลัวคน ถึงจะมีพิษสักเท่าไหร่ มันก็กลัวคน คนก็กลัวงู คือต่างคนต่างกลัวกัน คนก็กลัวงูกัด กัดแล้วก็ถึงตายหรือปางตาย งูก็กลัวคนจะตีมัน คนจะฆ่ามันโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าคนมีเมตตาก็อยู่กับงูได้

โมรปริตร เกี่ยวกับนกยูง โมร แปลว่า นกยูง ก็จะเล่าเกี่ยวกับนกยูงชนิดหนึ่งเป็นเรื่องประกอบ โมรปริตรเป็นมนต์นกยูง สวดแล้วให้แคล้วคลาดปลอดภัย จากตัวอย่างของนกยูงทอง ตามชาดก นกยูงทองสวดมนต์ทั้งเช้าทั้งเย็น สวดมนต์นอบน้อมดวงอาทิตย์ นอบน้อมท่านผู้หลุดพ้น นอบน้อมความหลุดพ้น และขอให้หลุดพ้น ปลอดภัยมาเป็นเวลานาน จนพรานนกยูงเอานกยูงตัวเมียมาส่งเสียงร้อง นกยูงตัวนี้ก็ติดในเสียงของตัวเมีย รีบตะลีตะลานลงมา ลืมสวดมนต์ด้วยความพอใจในเสียงของนางนกยูง เมื่อก่อนนี้นกยูงทองก็เคยติดบ่วงเหมือนกัน แต่พอติดบ่วงแล้วรูด มันก็หลุดทุกครั้ง แต่คราวนี้ไม่หลุด ติดบ่วงนายพราน              
ที่ตั้งหัวข้อไว้ว่า สวดมนต์เพื่ออะไร ขอสรุปว่า บางคนก็สวดเพื่อให้คุ้มครองตัวเอง ให้คุ้มครองบ้านเรือน บางคนก็สวดเพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ตัว บางคนก็สวดเพื่อความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ บางคนสวดเพื่อให้ใจสงบ บางคนก็สวดเพื่อทบทวนความรู้ข้อความในบทสวด เพราะในบทสวดมนต์มีข้อความที่เป็นธรรมอยู่เยอะ อันนี้ต้องรู้เรื่อง คือสวดมนต์ไปด้วยรู้เรื่องไปด้วย และก็ได้ทั้งสมาธิได้ทั้งปัญญา ได้ทั้งความปลอดโปร่ง ความสงบใจ คนที่รู้สึกหดหู่และว้าเหว่ รู้สึกไม่สบายใจและฟุ้งซ่าน ลองสวดมนต์สักพักหนึ่ง สวดอะไรก็ได้ ที่นิยมกันมากก็ อิติปิโส สวดเบา ๆ สวดช้า ๆ ก็จะได้ความสงบใจ เป็นบริกรรมภาวนา และถ้ารู้เรื่องไปด้วยก็เป็นปัญญา ได้ทั้งศีลด้วย เพราะเวลานั้น กาย วาจาก็เป็นศีล สงบเรียบร้อย กายวาจาไม่มีโทษ สำรวมกายวาจา รวมแล้วก็ได้ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา

ก็ได้เคยทดลองเรื่องพวกนี้มาบ้าง ก็ได้ผลจริง ถ้าเผื่อเกิดความไม่สบายใจ ก็นั่งลงสวดมนต์ พุทธคุณ ๙ ธรรมคุณ ๖ สังฆคุณ ๙ สวดกลับไปกลับมา ถ้าเผื่อสวดอย่างอื่นด้วยได้ก็ดี สักพักหนึ่งก็สงบผ่องใส หัวเราะออก ความกังวลมันจะหายไปหมดและได้ปีติปราโมทย์

จุดมุ่งหมายที่คนควรต้องการที่สุดในการสวดมนต์ก็คือ ต้องการจะสำรวมใจให้อยู่กับบทสวด และให้เกิดปัญญา ให้ได้ศีล สมาธิ และปัญญา ถ้าตั้งเป้าหมายไว้อย่างนี้ก็ไม่ผิดหวัง แต่ถ้าไปตั้งเป้าหมายไว้อย่างอื่นมันอาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง

คุณค่าของการสวด มนต์ อยู่ที่การสำรวมกาย วาจา ซึ่งจัดเป็นศีล และจิตใจสงบผ่องแผ้วอยู่กับบทสวดเป็นสมาธิ เข้าใจความหมายของบทสวด เพิ่มพูนความคิดอ่านให้แตกฉานลึกซึ้ง จัดเข้าในปัญญา รวมความว่า เราสวดมนต์ให้ได้ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนา อย่าสวดให้ขาดทุน คือสวดแล้วเสียเวลาเปล่า ไม่ได้อะไร นอกจากอุปาทานว่าเราได้สวดแล้ว

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อโลกาธิปัตย์ เขาส่งมาให้ผมที่บ้านเป็นปีที่ ๓ เล่มที่ ๒๓ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๓ มีคอลัมน์เล็ก ๆ คอลัมน์หนึ่งเขียนว่า สวดมนต์บ่อย ๆ แก้ซึมเศร้าหดหู่ได้ ข้อความต่อไปว่าอย่างนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซทควีน ฮัลลัม ในอังกฤษ ได้ศึกษาเพื่อหาว่า ส่วนใดของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อภาวะจิตใจของคนเรามากที่ สุด โดยศึกษาผู้ชาย ๒๕๑ คน กับผู้หญิง ๒๒๓ คน อายุระหว่าง ๑๘ – ๒๙ ปี วัดเหตุผลของคนเหล่านี้ ที่มีความเชื่อทางศาสนา ความถี่ในการเข้าโบสถ์ และแนวโน้มในการที่จะเกิดอารมณ์หดหู่ ซึมเศร้า ปรากฏว่าผู้หญิงจะเป็นคนเคร่งศาสนามากกว่าผู้ชาย แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันใน ๒ เพศคือ คนที่สวดมนต์บ่อย ๆ แล้ว แทบจะไม่มีอาการซึมเศร้าหรือกระวนกระวายใจเกิดขึ้นเลย

ส่วนกลุ่มที่ไปโบสถ์ เพราะเหตุผลทางสังคม มีโอกาสเกิดอารมณ์หดหู่ซึมเศร้ามากกว่า

ทีมนักวิจัยได้สรุปผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ว่า ศาสนามีความเกี่ยวพันกับสุขภาพจิตและการสวดมนต์จะช่วยคลายเครียดได้

อันนี้แน่นอน แต่ต้องสวดเป็น ถ้าสวดไม่เป็นอาจจะยิ่งเครียดขึ้นไปอีก คือไม่ว่าทำอะไรต้องทำเป็น ถ้าจะถามว่าทำอย่างไรจึงทำเป็น ก็ต้องไปลองถามท่านผู้รู้ดู

ท่านนึกดู อะไรก็ตาม ถ้าเราทำไม่เป็นมันจะให้ผลตรงกันข้าม กินยาก็เหมือนกัน ถ้ากินเป็นมันก็มีผลในทางบำบัดโรค ถ้ากินไม่เป็นก็ให้โทษแก่ร่างกาย

หนังสือพิมพ์โลกาธิปัตย์ กล่าวต่อไปว่า ทางด้านมูลนิธิสุขภาพจิตอังกฤษ ยืนยันเช่นกันว่า คน ที่มีกำลังใจดีและปรัชญาในการดำรงชีวิต จะช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ดี นอกจากนี้พบว่า คนที่เคร่งศาสนาจะมีปัญหาสุขภาพจิตน้อยกว่าคนที่นับถือศาสนาตามธรรมเนียม

ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องน่าสนใจ คนที่สนใจศาสนาหรือเคร่งศาสนา ไม่ได้หมายความว่าเคร่งเครียด แต่ว่าเป็นผู้ที่อยู่กับศาสนา ทางศาสนาต่าง ๆ ก็ทำวิจัยไว้เยอะว่า ครอบครัวที่นับถือศาสนา เคร่งศาสนา จะอยู่กันอย่างสงบสุขเรียบร้อยกว่าครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนา หรือนับถือศาสนาแต่ว่าไม่สนใจปฏิบัติตามหลักศาสนา ก็จะประสบปัญหามาก ศาสนานี้มีคุณค่ากับชีวิตบุคคล ชีวิตครอบครัวชีวิตสังคมมากทีเดียว

มีข้อเขียนอยู่ชิ้นหนึ่ง เขียนไว้นานแล้วตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๙ เรื่อง ทำไมต้องสวดมนต์เล็กน้อยก่อนนอน ก็จะนำมาเล่าเพื่อเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้นในเรื่องการสวดมนต์เพื่ออะไร

ท่านผู้ฟังจะทราบความจริงอย่างหนึ่งว่า เมื่อเราตื่นอยู่ จิตสำนึก (concious mind) ของเราจะทำงาน แต่เมื่อเราหลับ จิตใต้สำนึก (unconcious mind) ของเราจะทำงานรับช่วงจากจิตสำนึก สิ่งที่เราทำก่อนนอนจะเข้าไปสะสมในจิตใต้สำนึกหรือในส่วนลึกของจิต

สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตใต้สำนึกนั้นจะกลายเป็นแรงบันดาลใจสนับสนุนเราเมื่อเราตื่นขึ้น

แรงปรารถนาที่เรา ตั้งใจเมื่อก่อนเข้านอนจะลงไปเกาะตัวกันอยู่เงียบ ๆ ในจิตใต้สำนึกซึ่งจะมีอิทธิพลมากในวิถีชีวิตของเราโดยที่เราอาจไม่รู้สึกตัว

กรณีปมด้อยก็คือจิตใต้สำนึกในทางด้อยที่ไปสะสมตัวกันอยู่นาน จนเป็นอุปนิสัยนั่นเอง ถ้าเป็นสิ่งที่ดีลงไปสะสมกันอยู่ในส่วนลึกของจิต ก็จะกลายเป็นอุปนิสัยที่ดี คุณธรรมก็คืออุปนิสัยที่ดีซึ่งสถิตมั่นคงอยู่ในจิตของเราและแสดงออกเป็น พฤติกรรม เช่น ความรับผิดชอบ ความกรุณาปรานี ความอดทน เป็นต้น

การสวดมนต์ก่อนนอน ก็เพื่อให้จิตได้ระลึกถึงสิ่งดี ๆ ให้ได้ลงไปสะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีเป็นคุณธรรม เช้าขึ้นมาเมื่อจิตสำนึกเริ่มทำงานแล้ว ก็จะรับช่วงเอาสิ่งนั้นดำเนินต่อไป

เราต้องการสิ่งใด มีอุดมคติมุ่งมั่นในสิ่งใด ขอให้ระลึกถึงสิ่งนั้น และอธิษฐานจิตก่อนนอน เมื่อเรานอนหลับไป จิตใต้สำนึกจะซึมซับเอาความปรารถนานั้นไว้ และพิจารณาหาทางให้เราประสบความสำเร็จ

จิตของเราจึงตื่นอยู่เสมอ ทั้งขณะที่เราหลับ และเราตื่น ความฝันนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งการทำงานของจิต คือเมื่อเราตื่นอยู่ จิตอาวรณ์ข้องอยู่กับเรื่องใด ก็ฝันถึงเรื่องนั้นเสมอ ๆ

ความใฝ่ฝันในทางที่ดี ทำให้เรามีความพากเพียร ความพากเพียรนำไปสู่ความสำเร็จ ความสำเร็จในชีวิตคนจะสืบเนื่องมาจากความคิดความใฝ่ฝันอุดมคติและทัศนคติอัน ดี

เมื่อเราตื่นขึ้นตอนเช้า ขอให้เราคิดว่าเป็นชาติใหม่ของเรา ขอให้คิดไปในทางที่ดี สร้างจินตภาพในเรื่องความสุขความสำเร็จ เราจะได้มีพลังจิตที่เข้มแข็งไปในทางบวกและทำหน้าที่ที่มาถึงให้ดีที่สุด

ถ้านอนไม่หลับตอนกลางคืน อย่ากังวลกับเรื่องนอนไม่หลับ แต่จงทำเวลานั้นให้เป็นประโยชน์ด้วยการสวดมนต์ หรืออ่านหนังสือดี ๆ ที่ให้กำลังใจ พยายามสะสมหนังสือดี ๆ ไว้ จะเป็นเพื่อนที่ดีของเราได้เสมอ เป็นที่ปรึกษาที่ยอดเยี่ยมที่เรียกปรึกษาได้ทุกเวลา

ความคิดที่ดีของเราจะสร้างอนาคต และผลงานแก่เราอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขอขอบคุณที่มา:
วศิน อินทสระ

http://larndham.org/index.php?/topic/23640-%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
ขอขอบคุณ http://www.youtube.com : เพลงพระทอง-นางนาค / พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์