วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปราสาทหินพิมาย



อ่าน: พระนามองค์นาคราช และรายละเอียดเฉพาะองค์ ได้ที่

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

               ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ ๖๐ เมตร เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

               ชื่อ พิมาย นั้น น่าจะเป็นคำเดียวกันกับชื่อ วิมาย ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทพิมาย

               คำว่า พิมาย นั้น ปรากฏเป็นชื่อเมืองในศิลาจารึกพบในประเทศกัมพูชาหลายแห่ง แม้รูปคำจะไม่ตรงกันทีเดียวนัก แต่เป็นที่เชื่อกันว่า น่าจะหมายถึงเมืองพิมายอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพิมาย โดยเรียก เมือง วิมาย หรือวิมายะปุระ (จารึกปราสาทพระขรรค์ พุทธศตวรรษที่ ๑๘) โดยเฉพาะข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง จากราชธานีมาเมืองพิมาย รวม ๑๗ แห่ง แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเมืองพิมายกับเมืองพระนครหลวงของอาณาจักรเขมร และแสดงว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญไม่น้อย

               ปราสาทหินพิมาย สร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นหลักฐานการพัฒนาการของสังคมมนุษย์ ในด้านการก่อสร้าง ศิลปะ ความเชื่อ และศาสนาของชาวอีสานโบราณที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ศาสนสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ดินแดนอุดมสมบูรณ์ และมีอดีตอันรุ่งเรืองของชาวอีสานตอนล่าง ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์กลางสำคัญในภาคอีสานของไทย

               ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๙ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน โบราณสถานกลุ่มนี้กระจัดกระจายกันอยู่ทั้งในมืองและนอกเมืองพิมายในสภาพปรักหักพัง   ทรุดโทรมไปตามความยาวนานของกาลเวลา กรมศิลปากรได้เข้าไปดูแลรักษา ขุดแต่ง บูรณะ และค้ำยันบางส่วนของตัวปราสาทเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ และได้ดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีกในปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ต่อมารัฐบาลไทย โดยความช่วยเหลือของรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ร่วมกันดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงปราสาทหินแห่งนี้ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ – ๒๕๑๒ ซึ่งมีหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงษ์  และนาย Bernard Philipe Groslier เป็นผู้อำนวยการร่วม งานในช่วงนี้ได้บูรณะปราสาทประธานแล้วเสร็จ ต่อมา กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะ     และปรับปรุงกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญในรูปโครงการอุทยานประวัติศาสตร์   ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ – ๒๕๓๒ ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒

โบราณสถานที่สำคัญ
ประตูเมือง

               บรรดาประตูเมืองทั้งสี่ทิศนั้น ประตูชัยด้านทิศใต้ นับเป็นประตูเมืองที่สำคัญที่สุด เพราะรับกับถนนโบราณที่ตัดผ่านมาจากเมืองพระนครเป็นสำคัญ ประตูเมืองทุกทิศมีแบบแผนการก่อสร้างที่เหมือนกัน คือมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางผ่านตลอดกลางประตู กำแพงสูงประมาณ ๓ เมตร ที่สันกำแพงจะมีร่องยาวสำหรับเสียบบราลีตลอดแนวกำแพง ถัดจากกำแพงศิลาแลง จะเป็นคันดินยาวตลอด ปัจจุบันกำแพงนี้ยังปรากฎร่องรอยให้เห็นเพียงบางส่วนทางทิศใต้ ซึ่งเป็นแนวเดียวกับประตูชัยเท่านั้น




สะพานนาค

               ตั้งอยู่หน้าซุ้มประตูด้านทิศใต้ ที่เชิงบันไดทางขึ้นสะพานนาคตั้งรูปสิงห์ มีขนคอสลักเป็นเสมือนเกราะบนหน้าอก คอยพิทักษ์รักษาศาสนสถานอยู่ ส่วนนาคราวบันไดนั้นเป็นนาค ๗ เศียร เศียรนาคมีกรอบรัศมีประกอบและเป็นรอยหยักเล็กน้อยประดับด้วยลวดลายเป็นเส้นขนานตามทางยาวของรอยหยัก สะพานนาคนี้เป็นเสมือนสะพานทอดเข้าสู่เขาพระสุเมรุอันเป็นที่อยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ลักษณะของสิงห์และนาคนี้คงสลักขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ทำให้ทราบว่า แต่เดิมคงเป็นพลับพลาโปร่งมีเสาขนาดใหญ่เรียงรายกันตลอด เพื่อรองรับส่วนของหลังคาเครื่องไม้มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา

ประตูซุ้ม

                ต่อจากสะพานนาคราชเป็นประตูซุ้ม ก่อแบ่งออกเป็น ๓ คูหา คูหาแรกกว้างราว ๖ เมตร ยาวราว ๔ เมตร มีเสารายสลักด้วยศิลาคู่หนึ่ง ด้านข้างมีช่องลมข้างละ ๒ ช่อง ยังมีลูกกรงศิลาเหลืออยู่ คูหากลางกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๓ เมตร มีเสารายอย่างคูหาแรกข้างละ ๖ ต้น คูหาสุดท้ายที่จะออกไปเป็นลานใหญ่ ทำลักษณะอย่างเดียวกับคูหากลาง ช่องประตูแยกออกเป็นคูหา ทางทิศตะวันตก มีทับหลังศิลาชิ้นหนึ่ง สลักเป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่เหนือคานหาม

พลับพลา



              ถัดจากประตูซุ้มด้านใต้เข้าไปเป็นลานชั้นนอก ขนาดกว้างใหญ่ มีทางเดินเชื่อมระหว่างซุ้มประตูทิศใต้กับระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน ทางเดินนี้ยกระดับสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร เชื่อมต่อกับพลับพลาที่สร้างเป็นรูปกากบาทและมีทางเดินโดยรอบ ทำให้เกิดช่องว่างภายในรูปสี่เหลี่ยมอยู่ ๔ ช่อง ระหว่างทางเดินมีบันไดลงสู่พื้นทุกทิศ



บรรณาลัย
                บริเวณใกล้ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตก มีซากอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีซากอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายสีแดงอยู่สองข้าง มีประตูทางทิศใต้ และทิศเหนือด้านละ ๓ ประตู บรรณาลัยด้านทิศใต้ยังคงมีสภาพดีอยู่มาก ผนังอาคารก่อด้วยศิลาแลง เป็นผนังทึบตลอด ส่วนบนเจาะรูรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับใส่หลังคาเครื่องไม้อยู่เป็นระยะ ๆ ภายในอาคารใช้ศิลาทรายสีแดงก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาด ๕ x ๑๕ เมตร มีหน้าต่างอยู่โดยรอบ ไม่มีประตูทางเข้าสู่ภายใน เดิมคงเป็นบรรณาลัยหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องทั้งหลัง

ปรางค์พรหมทัต

                 เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้ค้นพบประติมากรรมศิลา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ประนมอยู่เหนือพระอุระ (ปัจจุบันได้หักหายไปแล้ว) ชาวบ้านเรียกพระรูปนี้ว่า “ท้าวพรหมทัต” และยังได้ค้นพบรูปสตรีรูปหนึ่ง นั่งคุกพระชานุ ปราศจากเศียรและกรทั้งสองข้างที่ชาวบ้านเรียกว่า “นางอรพินท์” ผู้เป็นมเหสีของท้าวพรหมทัต และรูปสตรีนี้คงหมายถึง พระนางชัยราชเทวี มเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗




ปรางค์หินแดงและหอพราหมณ์

                 เป็นโบราณสถานที่มีฐานร่วมกัน ปรางค์หินแดง มีมุขยื่นออกไปทางเข้าทั้งสี่ทิศ มุขด้านทิศเหนือก่อเป็นชาลาเชื่อมกับหอพราหมณ์ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านนี้ มีทับหลังศิลาทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องในมหาภารตะตอนกรรณะล่าหมูป่า








ปรางค์ประธาน

                 นับเป็นปรางค์ประธานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย   ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวล้วน   สูง ๒๘ เมตร   มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมขนาด ๒๒ เมตร เป็นที่ตั้งของเรือนธาตุ และแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๘  x ๑๕ เมตร อันเป็นส่วนของมณฑปที่เชื่อมต่อกับเรือนธาตุด้านทิศใต้ ทำให้ปราสาทหินพิมายนี้มีมณฑปแปลกไปกว่าสถาปัตยกรรมแบบเขมรในที่อื่นๆ ที่มักจะมีมณฑปตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกทั้งนี้เพื่อให้รับกับแผนผังรวมที่หันไปทางทิศใต้รับกับถนนโบราณที่ตัดตรงมาจากเมืองพระนครของอาณาจักรเขมร



คลังเงินหรือธรรมศาลา
                 ก่อนจะถึงทางเข้าปราสาทหินพิมายด้านทิศใต้ จะเป็นโบราณสถานสร้างด้วยศิลาแลงและศิลาทรายหลังหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตก เดิมเรียกว่าคลังเงิน เพราะได้ค้นพบเหรียญสำริด แก้ว แหวน เงิน ทอง และทับหลังเป็นภาพบุคคลกำลังหลั่งน้ำมอบม้าแก่พราหมณ์   ปัจจุบันยังไม่ทราบประโยชน์ใช้งานที่ชัดเจนของโบราณสถานแห่งนี้   ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๒๖ เมตร ยาว ๓๕.๑๐ เมตร มีบันไดทางเข้าด้านทิศตะวันออก ภายในอาคารแบ่งออกเป็น ๒ ห้องขนาดใหญ่ มีทางเดินผ่านตรงกลางและโดยรอบ ปัจจุบันได้เรียกอาคารนี้ว่าธรรมศาลา ซึ่งอาจเป็นที่ประทับของบุคคลชั้นสูงที่มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก็เป็นได้

ขอขอบคุณ
ที่มา:http://www.thaiwhic.go.th/tentative1.aspx

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
ขอขอบคุณ http://www.youtube.com : เพลงพระทอง-นางนาค / พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์