เทวาลัยพิมานอากาศจำลอง

ปราสาทพิมานอากาศ เป็นศิลปะแบบคลัง ฮินดู ไศวนิกาย สร้างในปีพุทธศตวรรษที่ ๑๕ รัชสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ ๒ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ และพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ปลาย ๑๗)

องค์พระนางโสมาสีวิกาเทวะนาคเทวี

พระนางเกิดขึ้นได้จากการที่องค์เทพสามตา ได้เสกด้วยอาคมอันเชิญจิตเทพนาคราชทั้ง ๙ มากำเนิดเป็นนางนาคชื่อ โสมา

พระนามองค์นาคราช และรายละเอียดเฉพาะองค์

ลักษณะเด่นประจำองค์ ฐานันดรศักดิ์ สถานที่ประทับ ฉลองพระองค์ และผู้เกี่ยวข้อง

กว่าจะเป็นเทวาลัย

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลในทีมงาน ผู้ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับองค์พญานาคราชในอดีตชาติตามญานนิมิต และตามประสบการณ์ตรงที่ได้รับของแต่ละบุคคล

เลือดนาคราช

เลือดนาคราช จากการที่ปู่เปิดญาณนาคราชทั้ง 9 ในวันที่ 25/06/55 และปู่ได้ทำน้ำมนต์นี้ขึ้น และปรากฎว่ามีเกร็ดเลือดจากนาคราช ทั้ง 9 ให้ได้เห็นกัน

เทวาลัยพิมานอากาศ ในปัจจุบัน

ปฏิปทา ศรัทธา ของ ทีมงานทุกคน ในการร่วมสร้างเทวาลัยพิมานอากาศ และเพื่อสืบสานศรัทธาในองค์นาคราช ศูนย์รวมนาคราชองค์ที่มีเชื่อสายขอมจะมาสักการะ

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ตำนานเกี่ยวกับผู้วิเศษ"พระฤาษีตาไฟ"


       ตำนานเกี่ยวกับผู้วิเศษคือเรื่องราวหนึ่งในตำนาน ที่ถูกกล่าวขานอยู่ทั่วโลก อย่างในสุวรรณภูมิเรานั้นมีเรื่องราวผู้วิเศษหลายท่าน ทั้งที่เป็นพระอรหันต์ และพระฤาษีผู้ทรงฤทธิ์ รวมทั้งเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามหลักโยคะศาสตร์ต่างๆ เช่น เล่นว่านยา เล่นแร่แปรธาตุ เล่นอาคม ก็สามารถเข้าถึงอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติได้ จากตำนานทั่วไปเราพบว่าอำนาจวิเศษทั้งหลายเหล่านั้นมักจะพบอยู่ในผู้ที่ออก บวช โดยเฉพาะเหล่าฤาษีทั้งหลาย ทั้งนี้ฤาษีคือพวกออกบวชพระพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด และเข้าถึงอำนาจแห่งพระเป็นเจ้า
โดยมากนั้นฤาษีมักนับถือพระเป็นเจ้าตามคติลัทธิพราหมณ์ คือ นับถือพระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ การภาวนาของฤาษีอยู่ในหลักของการเล่นพลัง การเล่นกสิณ ดังนั้น ฤาษีจำนวนไม่น้อยจึงบรรลุ ถึงอำนาจที่เหนือธรรมชาติจากการปฏิบัติโยคะทางจิต อำนาจของฤาษีที่บรรลุฌานสมาบัตินั้น ได้แก่ อำนาจในการเดินบนผิวน้ำ การดำดิน การเหาะเหินเดินอากาศ การย่นระยะทาง การรู้วาระจิต การได้หูทิพย์ ตาทิพย์ และอำนาจจิตในการบังคับควบคุมธาตุทั้ง 4 ได้อย่างเด็ดขาด เหล่านี้คืออำนาจที่อยู่ในพระฤาษีที่ลุถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า
เรื่องราวของพระฤาษีตาไฟนั้น ความจริงแล้วเป็นเรื่องลี้ลับเพราะนามพระฤาษีตาไฟนั้น ปรากฏมาเป็นเวลานานนับพันปีแล้ว ความลี้ลับของพระฤาษีตาไฟนั้นพอเทียบได้กับเรื่องราวของหลวงปู่เทพโลกอุดร ที่ยากจะสืบค้นความจริงได้ ในปัจจุบันจะเห็นว่าการสร้างรูปเคารพของพระฤาษีตาไฟนั้นมักปรากฏเป็นพระฤาษี ที่มีสามตา โดยมีตาที่สามกลางหน้าผาก ตามตำนานกล่าวไว้ว่าตาที่สามของพระฤาษีตาไฟนี้ลืมขึ้นมาเมื่อใดจะบังเกิดเป็นไฟประลัยกัลป์ ขึ้น เมื่อนั้น ลักษณะของตาที่สามของพระฤาษีตาไฟนี้ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มีบุญและมีตบะฌานที่แก่กล้า ตามคติทางพราหณ์และพุทธนั้นกล่าวว่าบุคคลที่ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตมาหลายร้อย หลายพันชาติ เป็นอนันตชาตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นมาในภพชาติปัจจุบันจะมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นผู้ที่มี บุญเกิดขึ้นกับร่างกายหลายอย่าง และอย่างหนึ่งก็คือการมีอุณาโลมที่กลางหน้าผาก อุณาโลมกลางหน้าผากนี้กับภาวะตาที่สามเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน เพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งตาที่สามหรือดวงตาแห่งเทพเจ้าพระอิศวรหรือพระศิวะถือว่าเป็นพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์ทรงมีสามตา โดยตาที่สามพระองค์นั้นอยู่กลางหน้าผากดุจเดียวกับพระฤาษีตาไฟ และเหมือนกันอีกประการหนึ่ง ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่พระอิศวรทรงลืมพระเนตรขึ้น เมื่อนั้นย่อมบังเกิด ไฟประลัยกัลป์ขึ้นมา ความเหมือนกันโดยบังเอิญของตำนานพระอิศวรและพระฤาษีตาไฟ ที่พ้องกันเช่นนี้ทำให้เชื่อว่าท่านทั้งสองคือพระฤาษีตาไฟและพระอิศวรย่อมมี ความเกี่ยวพันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งและพอเชื่อได้ว่าพระฤาษีตาไฟแท้จริงแล้ว ก็คือภาคหนึ่งของพระศิวะหรือพระอิศวรเจ้านั้นเอง
       ในหมู่บรรดาฤาษีโยคีทั้งปวงแล้ว ต้องนับถือว่าพระอิศวรหรือพระศิวะเป็นใหญ่สูงสุด เพราะพระอิศวรหรือพระศิวะ นั้นแท้จริงแล้วคือบรมโยคีหรือมหาโยคี เป็นเทพฤาษีที่ทรงตบะสูงสุด ทั้งนี้ฤาษีทั้งหลายย่อมบูชาโดยตรงต่อองค์พระศิวะด้วยกันทั้งสิ้นและนับถือ กันว่า พระศิวะนี้ คือพระเป็นเจ้า พระศิวะคือต้นตอแห่งฤาษีทั้งหลาย การบำเพ็ญทั้งหลายของฤาษี โยคีย่อมมุ่งตรงต่อพระศิวะทั้งสิ้น และด้วยเหตุนี้พระฤาษีตาไฟ พระฤาษีตรีเนตร และพระฤาษีอิศวร ซึ่งแท้จริงก็คือท่านเดียวกัน ย่อมมีฐานะเป็นฤาษีสูงสุดเป็นเจ้าแห่งฤาษีทั้งปวง และย่อมเป็นประธานแห่งฤาษีทั้งหลายด้วย ความหมายแห่งตาที่สาม หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องเกี่ยวกับพระฤาษีตาไฟ คือ เรื่องตาที่สามของพระคุณเจ้าฤาษีตาไฟ เพราะตาที่สามของพระฤาษีตาไฟนั้น นับเป็นจุดศูนย์รวมพลังงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ จุดตาที่สามนี้หากเราทำ การค้นคว้าสอบถามครูบาอาจารย์และนักพลังจิตจะพบว่า เป็นจุดกึ่งกลางหน้าผากของคนเรานั้นเป็นจุดศูนย์รวมพลังงานลี้ลับ ทางโยคะศาสตร์เรียกตรงนี้ว่า “อาชญะจักรา” หรือตาที่สาม เป็นจุดที่สามารถปลดปล่อยพลังงานทางจิตในระดับสูง และกล่าวว่าผู้ใดก็ตามที่สามารถพัฒนาจุดศูนย์รวมพลังงานตำแหน่งนี้ (จักรา) จะเกิดอำนาจทางทิพยจักษุญาณและหากกล่าวถึงการฝึกเพื่อเปิดตาที่สามตามแนวทางโยคีทางฮินดูแล้ว จะกล่าวถึงวิชาโยคะศาสตร์อันเร้นลับที่เชื่อว่าภายในตัวเรานั้นมีเส้น พลังงานบางอย่างภายในตัว และนอกจากนี้ยังมีศูนย์รวมพลังงานอยู่ทั้งหมดถึง 7 จุดด้วยกัน บริเวณตำแหน่งตาที่สามคือจุดที่หก เรียกว่า จักราที่หก หรือที่เรียกว่าอาชญะจักรนี่เอง การเปิดจักรานี้จะทำได้ก็ด้วย การเดินพลังงานชนิดหนึ่งที่มีอยู่ภายในร่างกายของคนเราที่เรียกว่า “พลังกุณฑาลินี” พลังงาน ชนิดนี้จะขดตัวอยู่ ณ บริเวณก้นกบ โยคีต้องทำการเข้าสมาธิเพื่อปลุกพลังงานดังกล่าวให้ตื่นขึ้น อย่างเหมาะสม การปลุกพลังกุณฑาลินีในตำราโบราณกล่าวว่า เป็นสิ่งที่อันตราย หากทำโดยไม่มีผู้รู้แนะนำแล้วพลังดังกล่าวเมื่อเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่บริเวณ หน้าผากหรือตำแหน่งตาที่สาม จะก่อให้เกิดการเปิดจักรานี้เป็นผลให้บุคคลผู้ นั้นมีภาวะเห็นสิ่งต่างๆ ที่ดวงตาของคนทั่วไปไม่อาจมองเห็นได้ เช่น การมองเห็นออร่าหรือรัศมีของร่างกายของคนเรา การทำนายโดยใช้กระแสจิต เป็นต้น
ซึ่ง พลังนี้ยังรวมไปถึงการปลดปล่อยพลังจิตเพื่อทำการโทรจิตก็ได้ และหากบุคคลผู้นั้นผ่านการฝึกฝนกสินมาด้วยแล้วย่อมสามารถปลดปล่อยพลังออกมา จากตาที่สามทำให้ เกิดไฟขึ้นได้เรียกว่าเพ่งไปที่ใดก็เกิดไฟลุกขึ้นที่นั่นเป็นดั่งพระฤาษีตา ไฟนั่นเอง
ในคำไหว้ครู มีชื่อฤาษีที่คุ้นหูคนไทย อยู่ ๓ ตนด้วยกันคือ ฤาษีนารอด ฤาษีตาวัว ฤาษีตาไฟ
ฤาษีทั้งสามนี้คนระดับชาวบ้านสมัยก่อนรู้จักกันดี มักพูดถึงอยู่เสมอในตำนานพระพิมพ์ ที่ว่า จารึกไว้ในลานเงินก็ได้กล่าวถึงฤาษีตาวัว (งัว) และฤาษีตาไฟไว้เหมือนกัน ดังความว่า
ตำบล เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิไชยสงคราม เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ายังมีฤาษี ๑๑ ตน ฤาษีเป็นใหญ่ ๓ ตน ตนหนึ่งฤาษีพิลาไลย์ ตนหนึ่งฤาษีตาไฟ ตนหนึ่งฤาษีตาวัว เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งหลายนี้จะ เอาอันใดให้แก่ พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้ง ๓ จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ ฉะนี้ฉลองพระองค์ จึงทำเป็นเมฆพัตร อุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ พระฤาษีประดิษฐานไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลาย
สมณชีพราหมณาจารย์เจ้าไปถ้วน ๕๐๐๐ พรรษา พระฤาษีองค์หนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า ท่านจงไปเอาว่าน ทั้งหลายอันมีฤทธิ์ เอามาให้สัก ๑๐๐๐ เก็บเอาเกสรไม้อันวิเศษ ที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้ ๑๐๐๐ ครั้นเสร็จแล้ว ฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวง ให้ช่วยกันบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง ทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง ๓ องค์นั้น จึงบังคับฤาษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผง เป็นก้อน ประดิษฐานด้วยมนต์คาถาทั้งปวงให้ประสิทธิทุกอัน จึงให้ฤาษีทั้งนั้น เอาเกสรและว่านมาประสมกันดีเป็นพระให้ประสิทธิแล้ว ด้วยเนาวหรคุณประดิษฐานไว้บนเจดีย์อันหนึ่ง ถ้าผู้ใดให้ถวายพระพรแล้ว จึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงคุณพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิดดังนี้แสดงว่า แต่กาลก่อนทางภาคพื้นประเทศไทยเราก็มีฤาษีอยู่มาก โดยเฉพาะ ฤาษีตาวัว กับ ฤาษีตาไฟ ติดปากคนมากกว่าฤาษีอื่นๆ และประวัติก็มีมากกว่า เท่าที่ทราบพอจะรวบรวมได้ดังต่อไปนี้
         ฤาษีตาวัว นั้นเดิมทีเป็นพระสงฆ์ตาบอดทั้งสองข้าง แต่ชอบเล่นแร่แปรธาตุ จน สามารถทำให้ปรอทแข็งได้ แต่ยังไม่ทันใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร ก็เอาไปทำหล่นตกถาน (ส้วมของพระตามวัด) เสีย จะหยิบเอามาก็ไม่ได้ เพราะตามองไม่เห็น เก็บความเงียบไว้ ไม่กล้าบอกใคร ลูกศิษย์ไปถาน แลเห็นแสงเรืองๆ จมอยู่ใต้ถาน ก็กลับมาเล่าให้อาจารย์ฟัง หลวงตาดีใจบอกให้ศิษย์พาไป เห็นแสงเรืองตรงไหนให้จับมือจุ่มลงไปตรงนั้น จะเลอะเทอะอย่างไรช่างมัน ศิษย์กลั้นใจทำตาม หลวงตาก็ควักเอาปรอทคืนมาได้ จัดแจงล้างน้ำให้สะอาดดีแล้วก็แช่ไว้ในโถน้ำผึ้งที่ท่านฉัน ไม่เอาติดตัวไปไหนอีก เพราะกลัวจะหล่นหาย อยู่มาวันหนึ่ง ท่านก็มารำพึงถึงสังขาร ว่าเราจะมานั่งตาบอดอยู่ทำไม มีของดีของวิเศษอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะลองดู จึงให้ศิษย์ไปหาศพคนตายใหม่ๆ เพื่อจะควักเอาลูกตา แต่ลูกศิษย์หาศพใหม่ๆ ไม่ได้ ไปพบวัวนอนตายอยู่ตัวหนึ่ง เห็นเข้าที่ดีก็เลยควักลูกตาวัวมาแทน หลวงตาจึงเอาปรอทที่แช่น้ำผึ้งไว้มาคลึงที่ตา แล้วควักเอาตาเสียออก เอาตาวัวใส่แทน แล้วเอาปรอทคลึงตามหนังตา ไม่ช้าตาทั้งสองข้างก็กลับเห็นดีดังเดิม แล้วหลวงตาก็สึกจากพระ เข้าถือเพศเป็นฤาษี จึงได้เรียกกันว่าฤาษีตาวัว มาตั้งแต่บัดนั้น ส่วน ฤาษีตาไฟ กับฤาษีตาวัวนั้น ฤาษีทั้งสองนี้เป็นเพื่อนเกลอกัน และได้สร้างกุฎีอยู่ใกล้กันบนเขาใกล้เมืองศรีเทพ ท่านออกจะรักใคร่กันมาก มีอะไรก็บอกให้รู้ ไม่ปิดบัง วันหนึ่งฤาษีตาไฟได้เล่าเรื่องให้ศิษย์ฟังว่า ในถ้ำมีบ่อน้ำอยู่สองบ่อ แต่ละบ่อมีฤทธิ์อำนาจไม่เหมือนกัน น้ำในบ่อหนึ่ง เมื่อใครลงไปแช่ก็จะตายเหลือแต่โครงกระดูก และถ้านำโครงกระดูกลงแช่ในอีกบ่อน้ำหนึ่งก็จะฟื้นขึ้นมา อีกบ่อน้ำนี้เหมือนชุบชีวิตได้ ศิษย์ ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ฤาษีตาไฟจึงบอกว่า จะทดลองให้ดูก็ได้ แต่ต้องให้สัญญาว่า ถ้าตนตายไปแล้ว ต้องเอาร่างหรือโครงกระดูกของตนลงแช่ในอีกบ่อหนึ่ง เพื่อคืนชีวิตขึ้นใหม่ ศิษย์ก็รับคำ ฤาษีตาไฟจึงลงแช่ในบ่อน้ำนั้นให้ดู ฤาษีก็ตายเหลือแต่โครงกระดูก ฝ่ายศิษย์เห็นเช่นนั้นแทนที่จะทำตามสัญญา กลับวิ่งหนีกลับเมืองไปเสีย และคิดว่าเมื่อสิ้นอาจารย์ไปแล้ว ตนย่อมเป็นหนึ่งในแผ่นดิน ไม่มีใครทำอะไรตนได้ ไม่ต้องหวาดกลัวหรือเกรงใจผู้ใดอีกต่อไป
        กล่าวฝ่ายฤาษีตาวัว ซึ่งเคยไปมาหาสู่ฤาษีตาไฟอยู่เสมอ เมื่อเห็นฤาษีตาไฟหายไปผิดสังเกตเช่นนั้นก็ชักเอ๊ใจสงสัย จึงออกจากกุฎีมาตามหาที่ถ้ำ เมื่อเดินผ่านบ่อน้ำนั้น ก็เห็นซากโครงกระดูกอยู่ภายในบ่อ จึงคิดว่าเป็นซากโครงกระดูกของฤาษีตาไฟเป็นแน่
ฤาษีตาวัวจึงนำโครงกระดูกลงไปแช่อีกบ่อน้ำนึง ฤาษีตาไฟก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา แล้วเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฤาษีตาวัวฟัง และว่าจะต้องแก้แค้นศิษย์ลูกเจ้าเมืองให้ได้
ฤาษีตาวัวก็ปลอบว่า อย่าให้มันรุนแรงถึงขนาดนั้นเลย ฤาษีตาไฟก็ไม่เชื่อฟังได้เนรมิตวัวขึ้นตัวหนึ่ง เอาพิษร้ายบรรจุไว้ในท้องวัวจนเต็ม แล้วปล่อยวัวอาคม ให้เดินขู่คำรามด้วยเสียงกึกก้อง รอบเมืองทั้งกลางวันกลางคืน แต่เข้าเมืองไม่ได้ เพราะทหารรักษาประตูปิดประตูไว้
พอถึงวันที่เจ็ด เจ้าเมืองเห็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็สั่ง ให้เปิดประตูเมือง วัวอาคมคอยทีอยู่แล้วก็วิ่งปราดเข้าเมือง ทันทีนั้นท้องวัวก็ระเบิดออก พิษร้ายก็กระจายพุ่งออกมาทำลาย ผู้คนพลเมืองตายหมด รวมทั้งศิษย์ลูกเจ้าเมืองด้วย เมืองศรีเทพก็เลยร้างมาแต่ครั้งนั้น
ถ้าว่าตามเรื่องที่เล่ามานี้ ฤาษีตาวัวก็ดูจะใจดีกว่าฤาษีตาไฟ และคงจะเป็นด้วยฤาษีตาวัวเป็นผู้ช่วยให้ฤาษีตาไฟฟื้น คืนชีพขึ้นมานี่เองกระมัง ทางฝ่ายแพทย์แผนโบราณจึงได้ถือเป็นครู ส่วนทางฝ่ายทหารออกจะยกย่องฤาษีตาไฟ ดังมีมนต์บทหนึ่งกล่าวไว้ในตำราพิชัยสงครามว่า "ขอพระศรีสุทัศน์เข้ามาเป็นดวงใจ พระฤาษีตาไฟเข้ามาเป็นดวงตา"

ขอขอบคุณ: http://board.palungjit.com/f2/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A4%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%9F-347265.html

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลังคาเรือนเครื่องไม้ กระเบื้องเชิงชาย” ศิลปะแลลวดลาย ที่หายไปจากปราสาทหิน

image

ในวันนี้ จะเป็นเรื่องราวที่ติดพันนัวเนียมาจาก Entry ที่แล้ว ที่เป็นเรื่องราวของ “เครื่องเคลือบดินเผาและเตาโบราณ” (Angkorian Ceramics – Earthenware & Kiln Sites) ครับ

         ที่ต้องต่อเนื่องก็เพราะว่า บางสิ่งที่พบในแหล่งเตาเผามันไม่ได้มี “ความน่าสนใจ” เพียงแค่ภาชนะเครื่องเคลือบ เครื่องใช้ เครื่องถ้วย ภาชนะรูปสัตว์ เครื่องประดับหรือเครื่องประกอบพิธีกรรม แต่เพียงเท่านั้นครับ

         แต่มันมี “บางสิ่ง” ถูกขุดพร้อมกันพบภายในแหล่งเตาที่ถูกขุดค้น (ทางโบราณคดี – มีการเก็บข้อมูล หลักฐานอย่างเป็นระบบ) หรือพบจากแหล่งเตาที่ไม่ได้ผ่านการขุดค้น (แต่ถูกขโมยขุดหาวัตถุโบราณ) นั่นก็คือ “กระเบื้องดินเผาความร้อนสูง” (Higher-Temperature ceramics Tiles) ที่นำมาใช้ประโยชน์เป็น “ส่วนประกอบของอาคารสถาปัตยกรรม” (Architectural Stoneware) ประกอบเข้ากับ “โครงสร้างที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก” ( Wooden Structure Building) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ”เครื่องกระเบื้องมุงหลังคา”  (Roofing Tiles) ที่ใช้มุงหลังคาของ "อาคารเรือนเครื่องไม้" (Wooden Building) ไงครับ

เครื่องปั้น เครื่องเคลือบดินเผาแบบต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างหลังคาเรือนเครื่องไม้มีทั้ง กระเบื้องตัวผู้(กาบกล้วย) บราลี กระเบื้องเชิงชายรูปยักษ์ ทวารบาล นาค ครุฑยุดนาค กลีบบัวและลายใบไม้

จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

         จากการพบเครื่องกระเบื้องมุงหลังคาที่เป็นทั้งเครื่องเคลือบ (Glazed) และ ไม่เคลือบ – เนื้อแกร่ง (Unglazed – Earthenware) ที่พบจากแหล่งเตาเผาและแหล่งที่ตั้ง (Monument sites) ของปราสาทหินน้อยใหญ่ เป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญที่แสดงการมี ”ตัวตน” ของ “โครงสร้างหลังคาเครื่องไม้” ทั้งที่เป็นหลังคาของระเบียงปราสาทหิน หลังคาของอาคารไม้ ศาลา พลับพลา ปราสาทราชวัง ที่เคยมีอยู่ในอดีต

กระเบื้องดินเผาตัวผู้(กาบกล้วย) ตัวเมียและกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว

ที่ขุดพบจากแหล่งเตาตานี (Tani Kiln Sites) ประเทศกัมพูชา

นำมาเรียงประกอบกัน ตามแบบที่ใช้มุงบนโครงไม้หลังคา

         วันนี้ผมก็เลยต้องขออนุญาตท่านผู้อ่าน มาติดตามเรื่องราวของกระเบื้องดินเผาทั้งที่เคลือบ และไม่เคลือบ เรื่องราวของเครื่องไม้ประกอบปราสาท โครงสร้างหลังคาเรือนไม้และกระเบื้องเชิงชาย ที่เคยมีอยู่บนหลังคาของทุกระเบียงทางเดินของปราสาทหิน และอาคารเรือนไม้ทั้งหลังในวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณ จากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันครับ

         ถึงในทุกวันนี้ หลังคาเครื่องไม้ เครื่องไม้และกระเบื้องดินเผามากมาย จะได้ “สลาย” หายสาบสูญไปจนเกือบหมดแล้ว แต่เรื่องราวที่ผมจะทำให้ท่านหลับในตอนต่อไปนี้ จะเป็น “จินตนาการ” ที่เกิดขึ้นจากร่องรอย “หลักฐาน”ข้อมูล” การศึกษา” และการ “อนุมาน” ตามใจ ตามอารมณ์ของตัวผู้เขียน (ถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง) ที่จะนำพาท่านย้อนกลับไปคลี่คลายปริศนาของ “สิ่งที่หายไป”จากอดีต ให้กลับคืนมาในโลกปัจจุบัน ไปพร้อม ๆ ...กันนะครับ

คลายปริศนา ....เครื่องไม้ที่หายไป.....?

         ก่อนจะเขียนถึงเรื่องราวของ “เครื่องไม้ที่หายไป” จากปราสาทหินโบราณ เรามาดูสิ่งที่ “ยังคงเหลือ” อยู่ในปัจจุบันกันก่อนดีกว่าไหมครับ

         ท่านที่ชื่นชอบการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางไปท่องเที่ยว ค้นหา“อดีต” แห่งโบราณสถาน โดยเฉพาะที่เป็น “ปราสาทหิน” ในวัฒนธรรมแบบเขมร – ขะแมร์ (หรืออาจเรียกว่า กัมโพศ – กัมพุชเทศ – ชื่อสันสกฤตเก่าตามแคว้นหนึ่งในคันธาราษฏร์ – กัมพู + ชา แปลว่า ผู้สืบวงศ์วานมาจากชาวกัมพุช)ที่มีอยู่เกือบ 200 แห่ง ทั่วเมืองไทย กว่า 45 แห่งในลาว ประมาณกว่า 20 แห่งในเวียดนาม และอาจมากกว่า 1,500 แห่ง ในประเทศกัมพูชา (ข้อมูลจาก CISARK : Carte Interactive des Sites Archéologiques Khmers) ก็อาจจะเคยได้พบเห็น”ร่องรอยบางอย่าง” ที่อาจนำทางไปสู่คำตอบ...กับสิ่งที่หายไปกันมาบ้างแล้ว ....แต่ท่านก็อาจยังไม่แน่ใจนัก

ร่องรอย "ช่องรู" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว

ที่อาคารระเบียงด้านหน้าของปราสาทธม เมืองเกาะแกร์

ร่องรอย "ช่องรู" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว

รอยบากหินและการตกแต่งพื้นหินให้สอดรับกับหน้าจั่วไม้

ที่อาคารพลับพลา (หอคัมภีร์หรือบรรณาลัย) ของปราสาทวัดพู เมืองจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

         เขยิบเข้าใกล้ไปอีก ร่องรอยบางอย่างที่พบ ก็คือ “ช่องรู” (Holes) ที่เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม วางตัวเป็นแนวสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ตรงส่วนด้านหลังของหน้าบัน (บางทีก็ไปปรากฏอยู่ด้านหน้า – คือแบบว่าอาจมีการต่ออาคารไม้เชื่อมต่อด้านหน้าออกไปอีกหลังหนึ่ง) และอาจจะเห็น ร่องรอยของการ “บากหิน” เป็นแนวเฉียงลงมาตามรู – ช่องใส่คานไม้บนเนื้อหิน เป็นแนวบากหินเพื่อใช้รองรับคานไม้ที่เรียกว่า “จันทัน” ของ “โครงสร้างหลังคาเครื่องไม้” (Wooden Roofing Structure) ที่เคยมี เคยใช้บังแดดบังฝนอยู่ในสมัยที่ปราสาทหลังงามนั้นยังใช้ประโยชน์ตามลัทธิความเชื่อที่มีอยู่ในอดีตไงละครับ

         และหากสังเกตให้ดี เหนือร่องบากรูปทรงหน้าจั่วบนหลังหน้าบันหลายแห่ง ก็ยังมีร่องรอยของการแกะสลักลวดลายใบระกา เป็นพวยพุ่งขึ้นไป ประกบตรงกับพวยใบระกาสลักจากเนื้อไม้ที่เคยมีอยู่เหนือปลายหลังคาอีกด้วย

ร่องรอย "ช่องรู" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว.

รอยบากหินและการตกแต่งพื้นหินของหน้าบันให้สอดรับกับลวดลายของหน้าจั่วไม้

ที่โคปุระชั้นที่ 2 ปราสาทพระวิหาร

ร่องรอย "ช่องรู" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว

รอยบากหินและการตกแต่งพื้นหินของหน้าบันให้สอดรับกับลวดลายของหน้าจั่วไม้

ที่โคปุระชั้นด้านหน้า ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

         ร่องรอยของ “ช่องรู” ที่เจาะเป็นแนว ใช้สำหรับการสอด ”คานไม้ (อะเส)” เข้าไป คานไม้หรือคานอะเสเป็นส่วนประกอบหลักที่ใช้รองรับน้ำหนักของโครงสร้างหลังคาที่ทำจากไม้ คานไม้อะเสส่วนล่างจะตั้งอยู่บนยอดของผนัง (กำแพง) หินทรายหรือเสาหินทราย รองรับโครงสร้างด้านบนอีกทีหนึ่ง

          รูสำหรับเข้าขื่อไม้ ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ผมเห็นตามปราสาทหิน ก็คงจะเป็นรูบนหน้าบันรูปทรงหน้าจั่วสามเหลี่ยมปลายมกร (มะกะระ)ม้วน ที่เมืองโบราณ “โฉกครรคยาร์” หรือ “เกาะแกร์” อายุการก่อนสร้างอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 14

ร่องรอย "ช่องรู" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว

รอยบากหินและการตกแต่งพื้นหินของหน้าบันให้สอดรับกับโครงสร้างหลังคาไม้

ที่โคปุระด้านหน้า ปราสาทกระจับ เมืองเกาะแกร์

         จากที่นี่ อย่างน้อย ก็แสดงให้เห็นว่า การสร้างหลังคาด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องลอน น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่า การมุงหลังคาด้วยหินทราย อิฐ ศิลาแลง ที่นิยมสร้างกันในยุคต่อมาครับ

ร่องรอย "ช่องรู" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว

บนหน้าบันปราสาทเคราโก (Krol Ko)

เป็นรูปแบบของการเชื่อมอาคารเรือนเครื่องไม้เข้าทางด้านหน้าของอาคารปราสาทหิน

         นอกจากร่องรอยของ “รูปริศนา” ที่ทำให้เรารู้ว่า เคยมี “หลังคา” (โครงสร้างไม้ – กระเบื้องมุง ตกแต่ง) ประกอบอยู่บนผนังหิน (ผนังกำแพงทึบ) หรือใช้เสาหิน (หินทราย ,ศิลาแลง ตกแต่งสลักลวดลายทั้งตีนและหัวเสา) และบางอาคารก็ใช้ “คานหินสลัก” วางพาดบนเสาหินแทนคานอะเสชั้นล่างสุด รองรับโครงสร้างหลังคาไม้อีกทีหนึ่งแล้ว ก็ยังปรากฏร่องรอยของ “ฐานอาคาร”ที่ว่างเปล่า ที่ด้านบนของฐานเคยถูกสร้างเป็น “อาคารเรือนเครื่องไม้” (ทั้งหลัง) ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งศาลาหน้าจั่ว ศาลา โรงเรือน ระเบียงคด พลับพลา พลับพลาจัตุรมุข อาคารทางศาสนา พระที่นั่ง ที่ประทับ ฯลฯ ที่มีหลักฐานการใช้“เสาไม้ขนาดใหญ่” (Wood Poles) เป็นส่วนประกอบรองรับโครงสร้างหลังคา

รูปจำลองของอาคารเรือนเครื่องไม้ที่ตั้งอยู่บนฐานที่มีการบุหินด้านข้าง

และชื่อเรียกส่วนประกอบต่าง ๆ ของโครงสร้างหลังคาไม้

         ร่องรอย “รู” ของเสาไม้ ค้ำยันเรือนเครื่องไม้ทั้งหลัง ปรากฏหลักฐานอยู่มากมายหลายแห่งครับ แต่ส่วนมากก็มักจะถูกทำลายไปพร้อม ๆ กับโครงสร้างไม้ส่วนอื่น ๆ จากสาเหตุของ ไฟป่า (หน้าแล้ง ขาดข้าวัดกัลปนาดูแล ต้นไม้เข้ามายึดครอง พอเกิดไฟป่า เครื่องไม้ก็ไหม้ไปพร้อม ๆ กับต้นไม้แห้ง) การสงคราม (เผาทำลาย ใช้เป็นเชื้อเพลิง) การผุกร่อนจากการรกร้าง (ไม้ผุ ผสมกับไฟป่าและการพังทลาย) การรื้อถอนทำลายอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ ( ทำลายโดยกลุ่มคนรุ่นต่าง ๆ ที่ไม่ใช้ประโยชน์อาคารนั้นแล้ว หรือนำไม้จากศาสนสถานรกร้างไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นในชีวิตประจำวันแทน) และจากอีกหลายสาเหตุ (เช่นโดนนักขุดของเก่าเผาทำฟืนผิงไฟหน้าหนาว)

ร่องรอย "รูเสา" บนฐานดินอัญบุขอบนอกด้วยศิลาแลง

ฐานอาคารพลับพลาไม้รูปทรงกากบาท ปราสาทบ้านเบ็ญ จังหวัดอุบลราชธานี

ร่องรอยการคว้านฐานหินทราย บริเวณโคปุระด้านทิศตะวันออก

เพื่อใช้เป็น "รูเสาไม้" รองรับอาคารพลับพลาเรื่อนเครื่องไม้ขนาดใหญ่

ที่เคยมีอยู่ภายในระเบียงคดชั้นในสุดของ ปราสาทหินพิมาย

         เสาของเรือนโครงสร้างไม้ในยุคโบราณจึงไม่ค่อยเหลือรอดมาให้เห็นในยุคปัจจุบันมากนัก แต่เท่าที่เหลืออยู่ก็พอที่จะสามารถปะติดปะต่อ เรื่องราวของอาคารเรือนไม้ในยุคโบราณได้อย่างชัดเจน คือซากของเสาไม้ที่เหลืออยู่ที่ “ปราสาทกู่น้อย” (Ku Noi Pr.) จังหวัดมหาสารคาม เป็นหลักฐานอันดีที่แสดงให้เห็นว่า ในอดีตที่โคปุระทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกลุ่มอาคารปราสาทหินอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 นี้ เคยมีการการสร้างโคปุระ (โคปุรัม (ภาษาสันสกฤต) - ซุ้มประตู) แผนผังกากบาท (จัตุรมุขที่มีปีกข้างยาวกว่า) เป็นอาคารเครื่องไม้ แทนการสร้างโคปุระในรูปแบบของปราสาทก่อหินแบบที่พบเห็นได้โดยทั่วไปครับ

ซากจำลองของ "เสาไม้" ที่พบในการขุดค้นทางโบราณคดี

บริเวณโคปุระด้านทิศตะวันออกและตะวันตก

ของปราสาทกู่น้อย จังหวัดมหาสารคาม

รูปสลักลอยตัวของทวารบาล"นนทิเกศวร"

พบที่ปราสาทกู่น้อย จังหวัดมหาสารคาม

จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

         จากร่องรอยหลักฐานทั้งรูคาน (อะเส) และรูเสาที่ฐานอาคาร บอกให้เรารู้ว่า อาคารเครื่องไม้ในยุคโบราณ อาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ “แบบโครงสร้างหลังคาไม้ประกอบปราสาทหิน” และ “แบบอาคารเรือนไม้ เครื่องไม้ทั้งหลัง ที่มีฐานเป็นหินหรือปักเสาลงบนพื้นดิน”

         สำหรับแบบ “โครงสร้างหลังคาไม้ประกอบปราสาทหิน” ในยุคต่อมามีการพัฒนารูปแบบทางสถาปัตยกรรมโดยนำหินทราย อิฐ ศิลาแลงมาสร้าง(มุง)เป็นหลังคาแทนเครื่องไม้และกระเบื้อง รวมทั้งยังมีการแกะสลักเลียนแบบลอนหลังคากระเบื้อง ปักเสาบราลีหินทรายเรียงรายไปบนสันหลังคาและแกะสลักรูปของกระเบื้องเชิงชาย ตามแบบอย่างของเครื่องไม้เดิม

ภาพจำลองของ โครงสร้างไม้หลังคาและการมุงกระเบื้องประกอบปราสาทหิน

ตามหลักฐานที่พบจากปราสาทแปรรับ

         ส่วนแบบอาคารเรือนไม้หรือเป็นเครื่องไม้ทั้งหลัง มีทั้งแบบเป็นอาคารเดี่ยว ที่สร้างเป็นอาคารต่างหากไม่เชื่อมต่อกับปราสาทหิน และ แบบที่เป็นโครงสร้างเรือนไม้ที่มา “เชื่อมต่อ” ออกมาจากตัวศาสนสถานหรือตัวปราสาทหิน สามารถสังเกตเห็นได้จากส่วนของหน้าบันที่มีรูปสลักสวยงามของปราสาทหลายแห่งจะปรากฏว่ามี “รูเข้าคานไม้” เรียงเป็นแนวเฉียงตามโครงหลังคาทรงหน้าจั่ว ทั้งที่หน้าบันด้านหน้าหรือด้านหลังของปราสาท เช่นเดียวกับ “รูขื่อคานไม้” ยึดโครงสร้างหลังคาที่พบอยู่ด้านหลังของหน้าบัน

ร่องรอยของ "รูเข้าไม้" ไว้สอดคานไม้ แนวหน้าจั่ว .

บนหน้าบันปราสาทตาพรหม แห่งโตนเลบาตี

เป็นการเชื่อมอาคารเรือนเครื่องไม้แบบต่าง ๆ เข้าทางด้านหน้าของอาคารปราสาทหิน

         ร่องรอยของ “รูเข้าไม้” บนหน้าบัน ก็เป็นหลักฐานที่แสดงว่า เคยมีเรือนไม้“หลังคา” เชื่อมต่อกับต่อติดกับตัวอาคารปราสาท อาคารเป็นหลังคาของอาคารฉนวนทางเชื่อมระหว่าง “ตัวปราสาท” ที่สร้างด้วยหินทรายหรือศิลาแลงกับอาคารพลับพลาเรือนเครื่องไม้ทรงจัตุรมุขหรือทรงหน้าจั่วชั้นซ้อน ที่อนุมานจากแผนผังของซาก “ฐานอาคาร” เช่นที่พบที่ ”ปราสาทตาเมือนโต๊จฺ” (Ta Muan Toch Pr.) (ปราสาทสุคตาลัยแห่งอโรคยศาลา) จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทตาพรหมแห่งโตนเลบาตี (Taprohm Pr. At Tonle Bati) จังหวัดตาแก้ว ประเทศกัมพูชาแ(และอีกหลายแห่ง) จะพบฐานดินอัดบุขอบข้างด้วยหินศิลาแลง แผนผังรูปอาคารกากบาทต่อชาลาทางเดินเชื่อมเรือนไม้เข้ากับโคปุระ

ร่องรอย "ช่องรูเข้าไม้" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว

บนหน้าบันปราสาทตาเมือนโต๊จฺ

สอดรับกับแนวฐานอาคารด้านหน้า ที่แสดงให้เห็นว่าในอดีตเคยมีการเชื่อมอาคารปราสาทหิน

ด้วยฉนวนมุงหลังคาเครื่องไม้บนฐานชาลาทางเดิน

เข้ากับอาคารพลับพลาไม้รูปทรงจัตุรมุขและอาคารโคปุระที่สร้างด้วยหินเป็นแนวยาว

และยังเชื่อมต่ออาคารหลังคาไม้ ไปตามฐานของชาลาทางเดิน ไปจนสุดทางด้านหน้า

         นอกจากร่องรอยของรูเข้าขื่อคานไม้บนหน้าบัน ยังปรากฏร่องรอยของ "รูเสาไม้ปักลงบนพื้น" ที่ไม่มี “ฐานอาคาร” รองรับตามปราสาทหลายแห่ง เช่นที่ปราสาทวหนิคฤหะกุกมอน (Kok Mon Pr.) ปราสาทวหนิคฤหะสัมปู (Sampeou Pr.) ปราสาทวหนิคฤหะปราสาทตาเมือน (Ta Muan Pr.) ก็เป็นรูปแบบของปราสาทที่เคยมีฉนวนทางเดินมุงหลังคา เชื่อมต่อกับเรือน(ศาลา)หลังคาไม้ แต่เสาไม้ที่รองรับโครงสร้าง เสาคู่แรกจะปักอยู่บนฐานเขียงของตัวปราสาทด้านหน้า เสาคู่ต่อมาจะปีกลงบนพื้นดินโดยไม่มีร่องรอยของการบุหินเป็นฐานของอาคารไม้แต่อย่างไร ซึ่งน่าจะเป็น “อาคารเครื่องไม้ตกแต่ง” ด้านหน้าตัวปราสาทหินในรูปแบบของ “ศาลา” โถง (ไม่มีผนัง)หลังคาหน้าจั่วมุงกระเบื้อง พื้นศาลาปูแผ่นไม้ยกสูงขึ้นจากระดับพื้นดิน ที่มีบันไดทางขึ้นเป็นเครื่องไม้เช่นเดียวกัน

ร่องรอย "ช่องรูเข้าไม้" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว .

บนหน้าบันด้านหน้า ปราสาทกุกมอน

ร่องรอย "ช่องรูเข้าไม้" ไว้สอดใส่คานไม้แนวหน้าจั่ว

บนหน้าบันด้านหลัง (ทิศตะวันตก) ปราสาทสัมปู

ร่องรอยของ "รูเสาไม้" รองรับอาคารไม้บนฐานเขียงด้านหน้าของปราสาทตาเมือน

ร่องรอยของ "รูเสาไม้" รองรับอาคารไม้บนฐานเขียงด้านหน้า

ของปราสาทวหินคฤหะแห่งปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนครหลวง.

ศิลปะงานเครื่องไม้ .....ลวดลายแห่งศรัทธา

         ไหน ๆ ก็คุยถึงเรื่องของ “เครื่องไม้” ประกอบปราสาทและเรือนไม้มาแล้ว ก็ขอวกไปเขียนเรื่อง “ไม้ ๆ” ที่เกี่ยวเนื่องกันซักนิดนะครับ

         เพราะนอกจากเครื่องไม้ ที่ใช้ประกอบโครงสร้างหลังคาของปราสาทหินและเรือนเครื่องไม้ ที่หาร่องรอยได้ยากแล้วในปัจจุบัน ยังมีการใช้ “ไม้” เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างอาคารปราสาทหิน ที่หาร่องรอยได้ยากยิ่งกว่าอีกด้วย

         การใช้ไม้ ที่มีการแปรรูป เข้าไปเป็นส่วนประกอบของปราสาทหินที่ใช้หินทราย อิฐและศิลาแลงเป็นวัสดุหลักของโครงสร้าง เชื่อว่ามีมานานตั้งแต่ในยุคเริ่มแรกของการสร้างปราสาท (อิฐ) หรืออาจนานกว่านั้น

         ไม้แผ่นขนาดใหญ่ เนื้อหนาจะถูกใช้เป็นส่วน “คาน” รองรับน้ำหนักของโครงสร้างที่ก่อขึ้นไปด้านบน ที่มักเป็นเรือนปราสาทชั้นซ้อน (ศิขระ - ชั้นที่ลดหลั่นขึ้นไป)

ร่องรอยของคานไม้ ? สอดอยู่ระหว่างการเรียงหินขึ้นไป ที่ปราสาทบันทายทัพ

         การใช้ไม้เป็นคาน ประกอบโครงสร้างปราสาทส่วนรองรับชั้นซ้อน เมื่อเวลาผ่านไปยาวนานหลายร้อยจนถึงพันปี เกิดการผุกร่อน ย่อยสลาย รวมทั้งน้ำหนักของโครงสร้าง น้ำหนักของหินทรายสลักประดับเครื่องบนเช่น บัวกลุ่มยอดปราสาท หม้อกลศ บันแถลง(บรรพแถลง) ปราสาทจำลองและนาคปัก ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการพังทลายของปราสาทที่ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักของชั้นซ้อนหลายแห่ง

         แต่ก็ไม่เฉพาะปราสาทอิฐเท่านั้นนะครับ ในยุคต่อมายังมีการพบร่อยรอยของการใช้ “คานไม้” ประกอบอยู่ร่วมกับโครงสร้างของปราสาทที่สร้างจากหินทรายและหินศิลาแลง และอาจเป็นต้นเหตุให้ชั้นซ้อนด้านบนของปราสาทหินพังทลายลงมา อย่างที่เราเห็น “ปราสาทยอดด้วน” หลายแห่งในทุกวันนี้ไงครับ

         นอกจากจะใช้ไม้เป็นคานรองรับน้ำหนักแล้ว ยังมีการใช้เครื่องไม้ทำเป็น“ฝ้าเพดาน” (Attic Ceiling) เจาะรูเข้าไปในหิน เพื่อสอด”ขื่อคาน” ปิดด้วยไม้แผ่นตามช่องตารางของคานไม้ วางตัวอยู่ด้านบนเหนือลวดลายคิ้วบัวบนผนัง ประดับประดาด้วยลวดลายสลักไม้ ตกแต่งด้านในหลังคาของปราสาทให้มีความสวยงาม เมื่อชะเง้อมองขึ้นไปจะได้ไม่เห็นการเรียงหินหลังคาหรือการเรียงหินเรือนชั้นซ้อนของปราสาทประธานที่ดูไม่สวยงามนัก

         ยังไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานซากไม้ของฝ้าเพดานตามปราสาทหินอย่างชัดเจน ตัวอย่างของฝ้าเพดาน ที่พอหลงเหลือและเทียบเคียงได้ดีที่สุด ก็คงเป็นฝ้าเพดานไม้ในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ที่ปิดประดับอยู่ใต้โครงสร้างหลังคาหินศิลาแลงภายในของ “พระปรางค์สามยอด” (Phra Prang Sam Yod Pr.) จังหวัดลพบุรีครับ

ฝ้าเพดานไม้ ที่ได้รับการบูรณะแล้ว บนเพดานหลังคามุงหิน

ปราสาทปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี

         บนฝ้าเพดานของพระปรางค์สามยอด ยังคงปรากฏรอยริ้วของการประดับประดา ทั้งรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองและรอยด่างของไม้สลักรูป “ดาวประดับเพดาน” รอยสีของการลงรักปิดทอง อาจมีการประดับกระจกสี.. ซึ่งความงดงามที่เหลืออยู่ จะเด่นชัดเฉพาะผู้ที่ ”เข้าใจ” และมี “จินตนาการ” กับสิ่งที่สูญหายไปเท่านั้นครับ !!!

ร่องรอยของความงดงามที่เคยมีอยู่

บนฝ้าเพดานของปราสาทปรางค์สามยอด

         ร่องรอยของ “เครื่องไม้” เพื่อประกอบโครงสร้างของปราสาทหิน ที่พอจะหาพบได้แบบจะจะ ในปัจจุบัน อยู่ที่ “ปราสาทบันทายทัพ (Banteay Torp Pr.) ปราสาท 5 ยอดในยุคจักรวรรดิบายน อายุการก่อสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ห่างจากปราสาทบันทายฉมาร์ (Banteay Chhmar Pr.) ไปทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร และคานไม้ปริศนาที่ “ปราสาทกุฎี ตาคมธม (Kdi Ta Kom Thom Pr.) ที่เมืองโคล (Khol) อำเภออังกอร์ชุม (Angkor Chum) ทางทิศเหนือของจังหวัดเสียมเรียบ ใกล้กับปราสาทโคกโอจรุง (Kuok O Chrung Pr.)ปราสาทวหนิคฤหะหรือธรรมศาลา (Dharmasala) ที่ตั้งอยู่บนแนวเส้นทางราชมรรคา (Angkorian – Royal Roads) เป็นกลุ่มชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณ “จุดตัด” สำคัญกับ “แม่น้ำสเตรงพลวง (Stueng Phlang) จึงปรากฏสะพาน (สเปียน -Spean) หลายแห่ง ทั้ง สเปียนดำรัง (Spean Dam Rang) สเปียนเฮ้ว (Spean Hel) สเปียนมีเมย (Spean Memay)สเปียนพระชังเออ (Spean Preah Chang – er) ท่ามกลางเมืองโบราณขนาดใหญ่และหมู่ปราสาทหินโดยรอบอีกหลายหลัง

ร่องรอยการใช้เสาไม้เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างปราสาทหิน

หรืออาจเป็นเพียงโครงสร้างไม้ของฝ้าเพดาน ที่ปราสาทบันทายทัพ

ร่องรอยของคานไม้ที่ผุพัง อาจเป็นคาน ? รองรับน้ำหนักหินด้านบน

ที่ปราสาทกุฎีตาคมธม

         จากร่องรอยและลวดลายแกะสลักรูปบัวแปดกลีบที่ปราสาทบันทายทัพ แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องไม้ประกอบโครงสร้างปราสาท ทั้งในส่วนของขื่อคานรองรับน้ำหนักและเครื่องไม้ประดับฝ้าเพดานที่มีการแกะสลักเนื้อให้มีความสวยงาม ซึ่งหลักฐานของเครื่องไม้ที่พบนี้ ก็อาจเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเคยมีการใช้เครื่องไม้เป็นส่วนประกอบของปราสาทหิน แต่ในวันนี้มันได้อันตรธานหายไปเกือบทั้งหมด

ลวดลายสลักรูปบัวแปดกลีบ ศิลปะแบบบายน บนคานไม้ ? หรือฝ้าเพดานไม้

ที่ปราสาทบันทายทัพ

         นอกจากหลักฐานของเครื่องไม้ ที่ใช้เป็นขื่อคานและเครื่องไม้ประดับเพดานแล้ว ก็ยังมีร่องรอยของเครื่องไม้ที่ใช้เป็น “ประตู” เปิดปิดทางเข้าออกของศาสนสถานอีกครับ

         หากท่านเคยสังเกต (ส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้สังเกต เพราะกำลังตื่นเต้นกับภาพสลักของทับหลังและหน้าบัน) บริเวณพื้นด้านในติดกับกรอบประตูหินทราย (ที่มักมีจารึกตัวยึกยือ) ทางเข้าของอาคารโคปุระ ตรงมุมล่างทั้งทางซ้ายและขวาจะปรากฏ “รูและร่องรางเลื่อน” ที่เป็นร่องรอยของการเข้าเดือยประตูไม้และการเคลื่อนที่ อยู่ตามปราสาทหินทุกแห่ง (ถ้าหาเจอ) แสดงให้เห็นถึงการมีตัวตนของ“ประตูไม้” ที่เคยมีอยู่ และใช้งานตามแบบประตูปกติของมนุษย์ คือเอาไว้เปิดและปิดให้คนเข้าและออก

รูเดือยประตู สำหรับหมุนปิดเปิด

อาคารโถงมณเฑียร ปราสาทพระวิหาร

ร่องรอยของรูเสาประตู บนกรอบประตู (ที่หักพังทลาย)ของปราสาทละลมธม จังหวัดบุรีรัมย์

ช่องรางเดือยเสาประตู ด้านหน้า "สวยัมภูลังค์"

ปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์

ร่องรางเดือยของเสาประตู โคปุระทิศตะวันออก ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

ร่องรางเดือยของเสาประตู โคปุระชั้นนอกทิศตะวันออก

ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

         ศิลปะแห่งบานประตู ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่คงต้องเขียนแยกไปอีกต่างหากครับ เพราะความงดงามของประตูไม้นั้น ถึงแม้ในวันนี้จะไม่เหลือหลักฐานเนื้อไม้แกะสลักให้เห็น แต่หากเราเอาไป “เทียบเคียง” กับประตูหลอก ที่สลักขึ้นจากโกลนอิฐปิดทับด้วยปูนปั้นและประตูสลักจากหินทรายตามปราสาทหลายแห่ง ท่านก็คงจะเข้าใจถึงลวดลายแกะสลักของประตูไม้ในยุคโบราณ ที่ประมาณว่า ประตูแกะสลักเนื้อหินทรายหรือปูนปั้นยังมีความละเอียดสวยงามขนาดนี้ แล้วประตูไม้ที่สาบสูญไป จะมีความงดงามขนาดไหน ?

ลวดลายปูนปั้นบนโกลนผนังอิฐรูปประตูหลอก ปราสาทพะโค อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14

ลวดลายอันงดงามบนประตูหลอกของ ปราสาทพะโค

มีรูปของที่จับประตูหัวสิงห์ทั้งสองด้าน อิทธิพลผสมของศิลปะจีน

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14

ลวดลายก้านต่อดอก ลายใบไม้ม้วน สันประตูมีอกเลาสลักเป็นรูปบัวแปดกลีบ

ปราสาทปักษีจำกรง ปลายพุทธศตวรรษที่ 14

ลวดลายวิจิตรบรรจง บนประตูหลอกที่แกะสลักจากหินทราย

ปราสาทบันทายสำเหร่ อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17

         แต่ก็ใช่ว่า ประตูไม้จะมีการแกะสลักสวยงามไปทุกบานนะครับ เมื่อดูจากประตูหลอกของปราสาทหินหลายแห่ง เช่นที่ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทบ้านพลวง ฯลฯ ประตูหลอกที่แกะสลักจากหินส่วนด้านหน้า หรือบริเวณหมู่อาคารที่มีความสำคัญ ก็มักจะมีการแกะสลักอย่างสวยงาม แต่ประตูหลอกด้านอื่น ๆ จะสลักตามแบบของประตูไม้ทั่วไป คือมีอกเลาเรียงอยู่ตรงกลาง สลักลวดลายเพียงบางส่วน ซึ่งแบบแผนของการแกะสลักประตูไม้ก็คงมีความคล้ายคลึงกัน

ประตูหลอกที่มีลักษณะคล้ายกับประตูไม้ที่เคยมีอยู่

ปราสาทเบงเมเลีย อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17

ประตูหลอกที่มีลักษณะคล้ายกับประตูไม้ที่เคยมีอยู่จริง

ที่มักจะสลักเฉพาะตรงสันกลางและอกเลาเป็นลวดลายพรรณพฤกษาและดอกบัว

ปราสาทบ้านพลวง จังหวัดสุรินทร์ อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16

โกลนของประตูหลอก ที่ยังไม่มีการสลักลวดลาย ปราสาทบริวารของ

ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์

.

ประตูหลอกของหอมณฑปมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ของปราสาทพนมรุ้ง

แสดงรูปลักษณ์ของประตูไม้หากไม่มีการแกะสลักลวดลาย

ลวดลายบนบานประตู ในศิลปะแบบบายน

ที่ยังคงรักษาขนบของลวดลายที่มีคล้ายคลึงกับศิลปะในยุคก่อนหน้า

แต่ก็มีการรวมเสาประดับกรอบประตู สลักรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับประตูหลอก

กลายเป็น เสาและประตูหลอกพร้อมกันในหนึ่งเดียว

ปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนครธม

เศษกระเบื้องและฐานอาคารเรือนเครื่องไม้

….บนเขาไกรลาสแห่งอีสานใต้

         จากเรื่องราวของเครื่องไม้ประกอบปราสาทในรูปแบบต่าง ๆ ยังมีร่องรอยของหลักฐานง่าย ๆ ที่หลายท่านอาจจะเคยสังเกตเห็นตามพื้นดินของแหล่งที่ตั้งปราสาทโบราณและพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของอาคารเรือนไม้ในยุคโบราณทุก ๆ แห่ง นั่นก็คือ ท่านจะพบกับเศษชิ้นส่วนของ “กระเบื้องมุงหลังคา” (Roof Tiles) ที่แตกหัก กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณแหล่งที่ตั้งของปราสาทนั้น

เศษแตกหักกระเบื้องทุงหลังคาของอาคารบรรณาลัยและศาลาเครื่องไม้ที่เคยมีอยู่โดยรอบ

ปราสาทบากอง เมืองหริหราลัย

         ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือร่องรอยที่ "ปราสาทพนมรุ้ง" (Phnom Rung Pr.) จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณพื้นที่ชั้นบนสุด (ยอดเขา) ปรากฏฐานหินทรายของระเบียงคดและพลับพลา ที่เคยเป็นอาคารเรือนไม้ขนาดใหญ่ (ที่หายไปแล้ว) ล้อมรอบระเบียงคดและโคปุระของปราสาทพนมรุ้งที่สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายหินทราย ตรงแกนกลางเป็นดินอัด มีเศษกระเบื้องหลังคาชนิดต่าง ๆ แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (ชิ้นใหญ่ ๆ คงเก็บเอาไปซ่อนไว้ กลัวคนเห็น)

เศษกระเบื้องแตกหักกระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

บริเวณลานทางขึ้นสู่ตัวปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

         ผู้คนทั่วไป เมื่อพบกับความงามของศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย หลายคนก็คงไม่ได้สนใจก้มลงมามองเจ้าเศษกระเบื้องน้อย ๆ และคงไม่ได้สังเกตเห็นฐานอาคารของเรือนเครื่องไม้ที่รายล้อมอยู่ ก็มันไม่เห็น ....จะไปสนใจทำไม ?

ฐานของอาคารที่เคยเป็นที่ตั้งของพลับพลาเรือนเครื่องไม้ขนาดใหญ่ด้านหน้าปราสาท

และระเบียงคดที่อยู่ล้อมรอบชั้นนอกระเบียงคดที่สร้าจากหินทราย

เป็นฐานอาคารที่ใช้ดินอัดตรงกลาง บุขอบฐานด้วยหินทราย ตกแต่งเป็นชั้นของฐานปัทม์

ปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

          ฐานอาคารไม้และเศษกระเบื้องที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นหลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อธิบายว่า นอกจากบนยอดเขาพนมรุ้ง จะมีปราสาทหินที่ศักดิ์สิทธิ์และสวยงามแล้ว ภายนอกปริมณฑลแห่งสรวงสวรรค์สมมุติ ยังเคยมีอาคารเรือนไม้ ทั้งอาคารระเบียงคด และอาคารพลับพลาที่มีแผนผังรูป”กากบาท” หรืออาจเรียกว่า “พลับพลาจัตุรมุข” ที่เป็นอาคารศาลาเครื่องไม้ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่รายล้อมด้านนอกของปราสาทที่สร้างจากหินอีกทีครับ

อาคารเรือนเครื่องไม้....บนภาพสลักหิน

         ร่องรอยหลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ภาพถ่ายโบราณ” อาศัยฟิล์มและกระดาษอัดรูป เป็น “ผนังหิน” รองรับภาพเสมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ก็คือ “ภาพแกะสลักนูนต่ำ (Bas –Reliefs) บนปราสาทหินเก่าแก่หลายแห่ง ที่มีรูปของอาคารสถาปัตยกรรมแบบต่าง ๆ แทรกอยู่ภายในภาพด้วยไงครับ

ภาพสลักรูปอาคารศาลาไม้หน้าจั่ว หลังเล็ก อาจเป็นร้านค้า มีเครื่องสานแขวนอยู่ด้านบน

ภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทบายน

ภาพสลักรูปอาคารศาลาเครื่องไม้หน้าจั่ว ขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย

แทรกอยู่ภายในภาพสลักนูนต่ำเล่าเรื่องวิถีชีวิตผู้คนในท่ามกลางตลาดที่จอแจ

ปราสาทบายน

         หลายคนคงเคยเห็นภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทบายน (Bayon Pr.) ส่วนที่แสดงภาพวิถีชีวิต ตลาด ร้านค้า โรงหมอ ฯลฯ บนผนังกำแพงระเบียบคด ด้านทิศใต้ฝั่งตะวันออก ก็คงจะเคยสังเกตเห็นภาพของอาคารเรือนไม้ ที่เป็นศาลาหน้าจั่ว ไปจนถึงพลับพลาขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างซับซ้อนกว่าของเหล่านักบวช

ภาพสลักของอาคารเรือนเครื่องไม้ขนาดใหญ่ ทรงหน้าจั่ว

ที่อาจเป็นวัด (ราชวิหาร) หรือที่พักของเหล่านักบวช (ใส่เสื้อ มัดมวยผม)

ที่ปราสาทบายน

         และหากถ้าขึ้นบันไดมาอีกชั้นหนึ่ง เดินไปตามลานประทักษิณ ในช่องด้านนอกของระเบียงชั้นสอง ก็จะเห็นภาพของอาคารเรือนไม้ ที่ดูใหญ่โต ซับซ้อนและสูงศักดิ์กว่าอาคารเรือนไม้ที่สลักไว้ตรงระเบียงคดชั้นล่าง หลายมุมเป็นภาพสลักของอาคารเรือนไม้มียอด ที่เป็นปราสาท พระราชวัง ที่ประทับแห่งพระเจ้าศรีชัยวรมัน (ชัยวรมันที่ 7) ในท่ามกลางเหล่าสนมกำนัล การบรรเลงดนตรีประกอบการร่ายรำท่า “ถ่างขา” ของสาว ๆ ในราชสำนักกัมพุชเทศ

ภาพสลักนูนต่ำ แสดงรูปของอาคารสถาปัตยกรรมเรือนเครื่องไม้ขนาดใหญ่ มียอดปราสาท

ที่ประทับของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระมเหสีทั้งสองพระองค์ ในพระราชวังหลวง

และอาคารเรือนเครื่องไม้ของเหล่านักบวชที่กำลังประกอบพิธีกรรม (ด้านล่าง)

         ภาพสลักของอาคารเรือนเครื่องไม้ หรือเครื่องไม้ประกอบปราสาทหินที่ปราสาทบายน มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่ใช่เป็น “หลักฐาน” ภาพถ่ายของเรือนเครื่องไม้โบราณที่เก่าที่สุดครับ

         จากปราสาทบายน ลงใต้มาอีกกว่า 3 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวซ้าย เข้าสู่มหาปราสาทนครวัด “บรมวิษณุโลก” สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคโบราณ อายุการก่อสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 เก่าแก่กว่าปราสาทบายน เกือบ 100 ปี ที่นี่ก็มีภาพสลัก “นูนต่ำ” จนติดกำแพงกว่าที่ปราสาทบายน เป็นรูปของอาคารสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ ระดับพระราชวัง สลักอยู่ที่บริเวณปลายระเบียงคดใกล้กับหอตะวันออกของฝั่งทิศใต้ ภาพสลักแถบนี้เล่าเรื่องสยองของ “นรก” ทั้ง 37 ขุมครับ

         ปลายของภาพสลักแห่งการลงทัณฑ์ เป็นรูปของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 ในภาคของ “ผู้ที่ตายแล้ว – ไปรวมกับเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์” ประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าสนมกำนัล มีผ้าม่าน (พระวิสูตร) ไหวพลิ้วตามลม ใต้ฐานปราสาทเป็นภาพของเหล่าครุฑพ่าห์ (เหาะเหิน) ทำท่าแบกตัวเรือนปราสาทไม้ ในนัยยะความหมายที่ว่า “ปราสาทที่ประทับแห่งองค์เทพเจ้าบนสวรรค์”

รูปสลักนูนต่ำ แสดงภาพของอาคารเรือนเครื่องไม้ขนาดใหญ่

เป็นปราสาทที่ประทับของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จผ่านเข้าสู่ "บรมวิษณุโลก"

         เหนือขึ้นไป เป็นภาพเสมือนในอดีต ของหลังคาอาคารเครื่องไม้ ระดับมหาปราสาทราชวัง ปรากฏร่องรอยของหน้าบันแบบ “ปีกกา” และหลังคาชั้นซ้อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งด้านบน เหนือหลังคาเป็นยอดปราสาททรงอ้วนแหลม เหนือหลังคาขึ้นไป มีนางอัปสรากำลังเหาะเหิน โปรยพฤกษาดอกไม้ (หอม)อันเป็นมงคลแก่ผู้กระทำดี

         รายละเอียดของรูปอาคารเรือนเครื่องไม้ แสดงให้เห็นถึง โครงสร้างหลังคาหน้าจั่ว หน้าบันแบบนครวัด (ไม่เป็นสามเหลี่ยม แต่จะแยกออกเป็นปีกกา) ปลายหน้าบันม้วนเป็นลายพรรณพฤกษา เหนือขึ้นไปเป็นใบระการูปดอกไม้ – พรรณพฤกษาตั้งเป็นพวยขึ้นไป หลังคามุงด้วยกระเบื้องวางเป็นลอนเรียงลงมา สันหลังคาประดับด้วยบราลี (Barali) ชายหลังคาประดับด้วยกระเบื้องเชิงชาย (Antefixs) อย่างชัดเจน

         แต่ ...ภาพสลักนูนต่ำที่แสดงให้เห็นรูปของอาคารสถาปัตยกรรมเรือนเครื่องไม้ โครงไม้หลังคาที่เก่าที่สุด ก็ไม่ใช่ที่ “บรมวิษณุโลก” แห่งนี้ แต่จะเป็นที่ไหนนั้น ตามผมมา... ละกันครับ !!!

         กลับไปทางเดิม ย้อนขึ้นเหนือไปอีกกว่า 4 กิโลเมตร ผ่านปราสาทบายน แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ “ปราสาทบาปวน (Baphuon Pr.)"ปราสาททรงพีระมิดขนาดใหญ่ อายุเริ่มสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เก่าแก่กว่าปราสาทนครวัดขึ้นไปอีกกว่า 100 ปี ที่เพิ่งจะสิ้นสุด หยุดการบูรณะและมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2011 นี้ไงครับ

         ภาพสลักที่แสดงรูปแบบของสถาปัตยกรรมอาคารเรือนไม้ที่เก่าแก่ที่สุด ก็คงจะอยู่ที่ปราสาทบาปวนแห่งนี้ ครับ เพราะหากจะเสาะหารูปสลักที่มีรูปของสถาปัตยกรรมแทรกอยู่ที่เก่าแก่ขึ้นไปอีก ก็คงจะเป็นรูปของอาคารทรง“ปราสาท” ตามแบบแผนคัมภีร์ปุราณะโบราณ ที่หน้าบันของอาคารบรรณาลัยทางทิศใต้ ของปราสาทบันทายสรี อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 แต่ที่นั่นก็ไม่ใช่อาคารเรือนไม้ที่เรากำลังตามหาอยู่ครับ

         ภาพสลัก ”นูน (ไม่) ต่ำ” นัก ของปราสาทบาปวน มี “ขนบ - แบบแผน”ของการจัดวางภาพเป็นช่อง เป็นกรอบ (Frame) มีเส้นตีคั่นระหว่างช่องอย่างชัดเจน แต่ละช่องจะเล่าเรื่องเป็นตอน ๆ เรื่องที่นิยมสลักหินเล่าเรื่อง เท่าที่ผมพอจะรู้เรื่องบ้างคือเรื่องยอดนิยมอย่าง ”มหากาพย์มหาภารตะ” (Epic of the Mahabharata) เรื่อง “มหากาพย์รามายณะ (Epic of the Ramayana)และภาพที่แสดงความเป็น “มงคล” (Auspicious) ทั่วไป

ภาพสลักแสดงรูปของอาคารเรือนเครื่องไม้ทรงหน้าจั่วมีชั้นซ้อน

แสดงเรื่องราวในมหากาพย์มหาภารตะ ที่ปราสาทบาปวน

         ที่มุมหนึ่งของอาคารโคปุระด้านหน้าทิศตะวันออกปรากฏภาพของอาคารสถาปัตยกรรมเรือนเครื่องไม้ แทรกอยู่ในหลายกรอบภาพ เช่นเรื่องราวตอนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ ตอนที่ "ยุธิษฐิระ"พระเชษฐาคนโตของสายตระกูลปาณฑพ กำลังเล่น “สกา” กับ ศกุนิ พระเชษฐาของนางคานธารี (นางผู้ยอมตาบอด) พระปิตุลาของ “ทุรโยธน์” พระเชษฐาคนโตของสายตระกูลเการพ

         ศกุนิเป็นคนที่มีเล่ห์เหลี่ยม และเก่งกาจในการเล่นพนันขันต่อ ช่างสลักจึงแสดงภาพของ ยุธิษฐิระ ที่กำลังแสดงความโศกเศร้าเมื่อเล่นสกาแพ้ และต้องเสียนาง “เทราปตี” (ภาพผู้หญิงนั่งข้างล่าง) เป็นเดิมพัน ออกมาอย่างชัดเจน จากเหตุการณ์ตอนนี้ได้นำไปสู่การดูแคลน เย้ยหยันและรังแก จนกลายต้นเหตุหนึ่งของสงครามใหญ่แห่งชมพูทวีป

ภาพสลักแสดงรูปของอาคารเรือนเครื่องไม้ทรงหน้าจั่ว แบบศาลามีหลังคาชั้นเดียว

แสดงเรื่องราวในมหากาพย์มหาภารตะ ตอนสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ที่ปราสาทบาปวน

         อีกกรอบภาพหนึ่งที่มีภาพของอาคารแบบศาลาแทรกอยู่ในเรื่องเล่า เป็นภาพมหากาพย์มหาภารตะในตอน “อนุศาสนบรรพ” ที่สลักเป็นรูปของ“ภีษมะ”แม่ทัพผู้เป็นผู้ใหญ่ของทั้งสองตระกูล ถูกธนูของ “อรชุน” สังหาร แต่ยังได้รับพรให้มีชีวิตอยู่ นอนอยู่บนลูกธนูใต้อาคารหน้าจั่ว มีอรชุนและยุธิษฐิระ แสดงท่านั่งชันเข่าแบบกษัตริย์ (มหาราชาลีลาสนะ) มือหนึ่งกุมหน้าอกแสดงความเสียใจ และกำลังรับคำสอน “อนุศาสนศาสตร์” ศาสตร์แห่งการปกครองผู้คนโดยธรรมจากภีษมะ เป็นครั้งสุดท้าย

ภาพสลักแสดงรูปของอาคารเรือนเครื่องไม้ทรงหน้าจั่วขนาดใหญ่

แทรกอยู่ในภาพเล่าเรื่องมหากาพย์รามายณะ ที่ปราสาทบาปวน

         ภาพสลักในอีกมุมหนึ่งของปราสาท เป็นเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ เป็นภาพของอาคารเรือนไม้หน้าจั่ว ที่อาจแสดงเป็นที่พัก“อาศรม” แทรกตัวอยู่ในภาพสลัก ตอน พระรามและพระลักษณ์เดินดง ?

         จากภาพทั้งสาม (และอีกหลายภาพสลัก) ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นอย่างน้อย รูปแบบของอาคารเรือนเครื่องไม้ จะมีสัณฐานรูปทรงหน้าจั่ว ลักษณะเดียวกับร่องรอยของ “รูขื่อคานไม้” ที่พบอยู่บนส่วนด้านหลังของปราสาทหินหลายแห่ง และหน้าบันรูปทรงหน้าจั่ว ก็อาจจะเป็นหน้าบันที่ทำจากเครื่องไม้ ที่หายไปเช่นเดี่ยวกับโครงสร้างหลังคาอีกด้วย

         ภาพสลักโครงสร้างไม้ของอาคารสถาปัตยกรรม ทั้งที่ปราสาทบายน ปราสาทนครวัดและปราสาทบาปวน ล้วนแต่แสดงให้เห็นการมุงกระเบื้องหลังคาแบบเป็นลอน ชายหลังคาจะติดหรือประดับด้วยกระเบื้องเชิงชาย สันหลังคาประดับด้วยวัตถุยอดแหลมที่เรียกว่า “บราลี” เหมือนกันทั้งสิ้น

         หลักฐานจาก “ภาพสลัก” ที่ผมนำมาเสนอ ท่านก็คงเริ่มมั่นใจแล้วใช่ไหมครับว่า ครั้งหนึ่ง เหล่าปราสาทหินน้อยใหญ่ ต้องเคยมีเครื่องไม้ประกอบอยู่ด้วย !!!

         หากท่านยังไม่มั่นใจ เรามาดูการอนุมานหลักฐานเพิ่มเติมของ “โครงสร้างหลังคาเรือนไม้” ประกอบปราสาทหิน (แบบมีหินรองรับ) และโครงสร้างหลังคาเรือนไม้ เช่นศาลา พลับพลา (แบบมีเสาไม้รองรับ) และชิ้นส่วนของเครื่องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา ที่ใช้ประกอบอาคาร สถาปัตยกรรมแบบต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบ (และไม่ได้ขุดค้น – ได้จากขุดหาของเก่า) จากแหล่งเตาเผา จากตัวที่ตั้งของแหล่งโบราณสถานและจากแหล่งชุมชนโบราณที่เคยมีเรือนไม้สร้างอยู่ ว่ามีอะไรบ้างกันดีกว่าครับ

โครงสร้างหลังคาเรือนเครื่องไม้ ....วิชาการที่ต้องผสานจินตนาการ

         เริ่มจากโครงสร้างหลังคาเรือนไม้ (ทั้งที่สร้างอยู่เหนือระเบียงหิน หรือสร้างอยู่บนเสาหินหรือเสาไม้ ก็จะมีความคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างก็ตรงที่ ปลายชายหลังคา หากเป็นแบบสร้างอยู่บนผนังระเบียงหิน ก็อาจมีการใช้หินทรายสลักเป็นเชิงชายแทนการใช้กระเบื้อง) มีการศึกษาและสร้าง “จินตนาการ”

(Imagine) ออกมาเป็นภาพลายเส้น (Line Art) โดย “เฮนรี่ ปาร์มองติเยร์ (Henri Parmentier) ได้เคยวาดภาพลายเส้นและรูปแบบของหลังคา ตามหลักฐานรูสอดช่องคานไม้ที่พบบนหลังหน้าบันของปราสาทพระวิหาร แบบที่เป็นผนังระเบียงหินเช่น อาคารด้านปีกข้างของโคปุระชั้นที่ 3 (นับจากด้านล่าง) และหลังคาของอาคารโถงสูง (มณเฑียร) ด้านหน้าระเบียงคดของปราสาทประธานชั้นบนสุด

ภาพลายเส้นสมมุติ ของอาคารโคปุระชั้นที่ 3 ปราสาทพระวิหาร

ภาพวาดลายเส้นของ เฮนรี่ ปาร์มองติเยร์

แสดงภาพหน้าตัดภายใน ของโครงสร้างหลังคาไม้ที่เคยมีอยู่

ด้านบนอาคารโถงมณเฑียร ที่ตั้งอยู่ชั้นบนสุดของปราสาทพระวิหาร

         ส่วนตัวอย่างของปราสาทที่ใช้เสาหินรองรับคานหิน (ที่คานด้านนอกจะสลักเป็นรูปกลีบบัวเชิงชายแทนกระเบื้อง) รองรับโครงสร้างหลังคาเรือนไม้ ก็จะเห็นได้จาก โคปุระชั้น ที่ 1 และชั้นที่ 2 (นับจากข้างล่าง)ของปราสาทพระวิหารเป็นตัวอย่างอันดี

คานหินสลักเป็นรูปกลีบบัวเชิงชายเพื่อใช้รองรับโครงสร้างหลังคาไม้

วางเรียงพาดอยู่บนเสา

โคปุระชั้นที่ 2 ปราสาทพระวิหาร

คานหินสลักเป็นรูปกลีบบัวเชิงชายเพื่อใช้รองรับโครงสร้างหลังคาไม้

มีเสาหิน (ตกแต่งเป็นลวดลายคิ้วบัวด้านบน)รองรับ

โคปุระชั้นที่ 1 ปราสาทพระวิหาร

         จากภาพลายเส้นของ ปาร์มองติเยร์ ในปี 1939 ก็ยังมีการศึกษา ค้นหารูปแบบของโครงสร้างหลังคาไม้ที่หายไป มาโดยตลอด จนสามารถสร้างเป็นภาพลายเส้นของโครงสร้างหลังคาไม้ แบบที่มีหน้าจั่วชั้นเดียว กับแบบที่มีชั้นซ้อนขึ้นไปได้จากร่องรอยที่ปรากฏตามปราสาทหลังต่าง ๆ

ร่องรอยของ "รู" สอดคานไม้ รองรับโครงสร้างหลังคาไม้

บนผนังของอาคารพลับพลา (ห้องพิธีกรรม - บรรณาลัย - หอคัมภีร์) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ของปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

รูปภาพสันนิษฐานการวางโครงสร้างหลังคาไม้และการมุงกระเบื้องตรงส่วนหักมุม

ของปราสาทแม่บุญตะวันออก

รูปภาพสันนิษฐานการวางโครงสร้างหลังคาไม้รูปหน้าจั่วและการมุงกระเบื้อง

ของปราสาทแม่บุญตะวันออก

รูปภาพจำลองของการวางโครงสร้างหลังคาไม้และการมุงกระเบื้องแบบต่าง ๆ

ของปราสาทแปรรับ

         คงด้วยเพราะโครงสร้างของหลังคาเรือนไม้ จะมีความคล้ายคลึงกันกับโครงสร้างหลังคาของศาสนสถานที่เป็นเรือนไม้ในยุคหลัง เรียกว่าคงมีพัฒนาการต่อยอดหรือสืบทอดต่อกันมา โครงสร้างสำคัญก็คงเป็น คานอะเส ขื่อไม้ และจันทัน ที่เป็นส่วนรับน้ำหนักและขึ้นเป็นโครงร่าง ต่อด้วยเสาตุ๊กตา เสาตั้ง ขื่อคัด ไม้รองรับจันทัน และไม้แปสำหรับการเข้ากระเบื้องมุงหลังคา (รวมถึงไม้ระแนงหากเป็นการมุงกระเบื้องแบบแผ่นแบน)

รูปภาพจำลองของการวางโครงสร้างหลังคาไม้และการมุงกระเบื้องแบบต่าง ๆ

ของอาคารระเบียงคดหรืออาคารเรือนไม้ ที่มีการใช้เสาหินรองรับโครงสร้างหลังคาไม้

ในรูปแบบการวางหลังคาแบบนี้จะมีการใช้กระเบื้องเชิงชายอุดที่ปลายหลังคา

          ส่วนประกอบของโครงสร้าง ที่ประกอบเป็นหลังคาไม้ของระเบียงปราสาทหิน ยังมีองค์ประกอบสำคัญคือ เครื่องกระเบื้องหลังคา (Roof Tiles) อีกครับ

         การศึกษาเรื่องกระเบื้องมุงหลังคา ที่มาจากแหล่งเตาเครื่องปั้น เครื่องเคลือบดินเผา ตามแนวคิดของนักวิชาการต่างประเทศกลุ่มใหญ่ เชื่อว่า การเกิดขึ้นของรูปแบบหลังคาทรงหน้าจั่วและกระเบื้องลอน เป็นผลมาจากอิทธิพลเดียวกันกับเครื่องเคลือบดินเผาประเภทต่าง ๆ นั่นก็คือการได้รับ “อิทธิพลของช่างจีน” (Chinese Influence) ที่เข้ามาพร้อมกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เทคโนโลยีและการค้าระหว่างกลุ่มชนในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับกับกลุ่มชนในเขตประเทศจีนตอนใต้ มาตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 13

อิทธิพลของช่างจีน ปรากฏหลักฐานบนภาพสลักบานประตูหลอกของปราสาทพะโค

โดยเฉพาะรูปของ "ที่จับประตูหัวสิงห์" ที่สลักให้ยื่นออกมา

เป็นตำแหน่งเดียวกับประตูของศาสนสถานในวัฒนธรรมจีน

         รูปแบบของหลังคาและกระเบื้องมุงหลังคาในยุคก่อนหน้า จากการขุดค้นที่แหล่งชุมชนโบราณออกแอว (Oc Eo) บริเวณที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม และที่เขตเมืองโบราณอังกอร์โบเรย (Angkor Borei) จังหวัดตาแก้ว ประเทศกัมพูชา ก็เคยได้พบร่องรอยของการใช้กระเบื้องหลังคามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 – 11 เป็นกระเบื้องรูปทรงสี่เหลี่ยม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบในอินเดีย

       จากหลักฐานที่อังกอร์โบเรย ประกอบกับหลักฐานกระเบื้องทรงสี่เหลี่ยมแบบแบน ร่องตื้น มีรูเจาะ 2 รูสำหรับยึดเข้ากับไม้แป คล้ายคลึงกันกับที่พบในเขตอีสานปุระ หรือ สมโบร์ไพรกุก (Sambo Prei Kuk) อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นลักษณะของกระเบื้องเจาะรูผูก วางบนโครงไม้ ยังไม่ปรากฏร่องรอยของกระเบื้องเชิงชายและบราลี เป็นลักษณะของกระเบื้องหลังคาที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวาหรืออินเดีย เช่นเดียวกัน

         หลังพุทธศตวรรษที่ 14 อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีน ได้แพร่หลายเข้ามาสู่อาณาจักรกัมพุชเทศ พร้อม ๆ กับเทคนิค องค์ความรู้ ประสบการณ์ ภูมิปัญญาของการสร้างเครื่องเคลือบดินเผาประเภทต่าง ๆ และการค้าทางทะเล น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการผสมโครงสร้างหลังคาเครื่องไม้ ด้วยกระเบื้องยึดติดกับขื่อแป กระเบื้องลอน(กาบกล้วย) ปิดรูกระเบื้องชายหลังคาด้วยกระเบื้องเชิงชาย มีกระเบื้องปิดคานอกไก่ด้านบน ตามแบบการก่อสร้างของช่างจีน เป็นครั้งแรก ๆ ครับ

รูปแบบกระเบื้องเคลือบ (และไม่เคลือบ)ชนิดต่าง ๆ

ที่ขุดพบจากแหล่งเตาทะนอล มะเลจ บนเขาพนมกุเลน

การทดสอบเรียงกระเบื้องตัวผู้(กาบกล้วย) และกระเบื้องตัวเมียที่ได้จากแหล่งเตาตานี

บนโครงสร้างหลังคาไม้จำลอง

         การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังคาที่ได้รับอิทธิพลทางเทคโนโลยีผสมศิลปะจากวัฒนธรรมทางตอนใต้ของจีน ได้ก่อให้เกิดรูปแบบศิลปะใหม่ ที่ผสมผสานทั้งจากวัฒนธรรมอินเดียและจีน เข้ามาปรับเปลี่ยน ปรับปรุง พัฒนาจนกลายมาเป็นรูปแบบของการมุงหลังคาปราสาทหินด้วยเครื่องไม้ของช่างชาวกัมพุชอย่างต่อเนื่อง

         กระเบื้องมุงหลังคาที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีน (และพัฒนารูปแบบ รูปทรง เนื้อดิน สีสันน้ำเคลือบและการใช้งานมาเป็นแบบของกัมพุชเอง) แบ่งประเภทออกได้เป็น กระเบื้องตัวผู้ (Round tile)หรือกระเบื้องกาบกล้วยกระเบื้องตัวเมีย (flat tile) กระเบื้องเชิงชาย (Eave/ridge Tiles) และ บราลี (Barali - Ridge Tiles / finial Tiles) วางปิดสันหลังคา

เครื่องเคลือบรูป "บราลี" จากแหล่งเตาทะนอล มะเลจ บนเขาพนมกุเลน

         เมื่อประกอบโครงสร้างไม้ของหลังคา (ทั้งแบบบนผนัง และแบบบนเสา) เสร็จแล้ว ก็จะมุงกระเบื้อง โดยใช้เดือยของกระเบื้องตัวเมียวางทับไว้ในร่องของคานแป เรียงซ้อนลงมาโดยให้แผ่นกระเบื้องด้านบนที่สอบเล็กลง วางเกยอยู่บนแผ่นกระเบื้องแผ่นล่าง ส่วนกระเบื้องตัวผู้ก็จะวางเข้าเดือยทับกระเบื้องตัวเมียเรียงเป็นลอนเดี่ยว วางเกยยาวต่อกันลงมา

เดือยของกระเบื้องตัวเมีย วางประกบบนคานแปของโครงสร้างหลังคาไม้

เดือยของกระเบื้องตัวผู้ (กาบกล้วย)ไว้ประกบเรียงเข้ากับกระเบื้องตัวบ

         ช่วงปลายหลังคา (ชายคา) จะใช้ “กระเบื้องประดับปลายหลังคา”  (Antefix) หรือ “กระเบื้องเชิงชาย” (Eaves tiles) ที่มีการตกแต่งเป็นลวดลายศิลปะสวยงาม สอดเข้าไว้ที่ชายหลังคาเป็นกระเบื้องตัวสุดท้าย ซึ่งอาจวางลอยบนแปไม้ (ใช้เสาไม้รอง) แบบ หรือ วางติดไว้บนคานหินแบบที่ไม่มีลวดลายบัวสลักไว้

         แต่หากที่ปลายเชิงชาย มีหินวางเป็นคาน และแกะสลักเป็นรูปกลีบบัวเชิงชายแล้ว กระเบื้องหลังคาตัวสุดท้ายก็จะมาชนกับตัวบัวคานหินที่แกะสลักไว้พอดี โดยไม่ต้องใช้กระเบื้องเชิงชายมาอุดรูหรือปิดประดับ

รูปภาพจำลองของการวางโครงสร้างหลังคาไม้และการมุงกระเบื้องแบบต่าง ๆ

ของอาคารระเบียงคดที่มีการใช้คานหินสลักเป็นรูปตามแบบเครื่องกระเบื้อง

ไม่มีกระเบื้องเชิงชายอุดที่ปลายหลังคา

เช่นที่โคปุระชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 ปราสาทพระวิหาร

         ส่วนด้านบนของสันหลังคา จะใช้กระเบื้องที่ทำเป็นรูปทรง กลศ (กะละสะ – หม้อน้ำมงคล) ต่อยอดแหลม เรียกว่า “บราลี” วางไว้ทับเหนือไม้คาน“อกไก่” มีปลายกระเบื้องซ้อนอยู่บนกระเบื้องหลังคาอีกทีหนึ่ง

เครื่องเคลือบดินเผารูป "บราลี" รูปทรงต่าง ๆ จากแหล่งเตาในเขตอำเภอบ้านกรวด

จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร

           จากหลังคาโครงสร้างไม้มุงกระเบื้อง ช่างสร้างปราสาทในยุคต่อมา ก็ได้ประยุกต์นำเอารูปแบบของหลังคาลอนกระเบื้องมีเชิงชาย มาแกะสลักไว้บนหลังคาที่สร้างด้วยหินทราย

ลอนหลังคาและเชิงชายรูปกลีบบัวสลักหิน

ชั้นลดของปราสาทประธาน ปราสาทพระวิหาร พุทธศตวรรษที่ 16

         หลังคาของปราสาทหินที่มีการแกะสลักเป็นรูปลอนกระเบื้อง ก็มักจะมีการแกะสลักลวดลายตกแต่งไปบนลอน ในขณะที่ปลายหลังคา ก็จะทำเป็นรูปเหมือนของเชิงชายที่เลียนแบบมาจากกระเบื้องเชิงชาย สลักอยู่บนหินทรายแท่งเดียวกันกับปลายลอนหลังคาน

รูปแบบการสลักหลังคาหินแบบเรียบไม่มีลอน(กระเบื้อง)

ปลายหลังคาทำเป็นรูปกลีบบัวเชิงชาย สลักบนหินชิ้นเดียวกันกับหลังคา

ที่ปราสาทพระวิหาร พุทธศตวรรษที่ 16

         หรือในบางครั้ง ก็แยกส่วนของหินทรายออกทำเป็นคานทับหลังบนผนังกำแพงต่างหาก สลักรูปบัวเชิงชายลอยตัวออกมาอย่างเด่นชัด เป็น “ทับหลังเชิงชายหลังคาหิน” ซึ่งในรูปแบบนี้ บางทีก็ใช้โครงสร้างไม้มุงกระเบื้องต่อขึ้นไปเป็นหลังคา อย่างที่โคปุระจัตุรมุขชั้นแรกของปราสาทพระวิหาร หรือ อาจสลักหินทรายทำเป็นรูปลอนหลังคาต่อขึ้นไปก็ได้

คานหินเชิงชายที่สลักเป็นรูปกลีบบัว เลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย

แยกส่วนออกจากหินมุงหลังคาที่สลักเป็นลอน ที่ปราสาทเบงเมเลีย ปลายพุทธศตวรรษที่ 17

คานหินเชิงชายที่สลักเป็นลวดลายกลีบบัวสองชั้น มีลายเกสรล้อมรอบ

เลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย

พบจากปราสาทในเมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15

รูปแบบการสลักหลังคาหินแบบเรียบไม่มีลอน(กระเบื้อง)

ชายหลังคาทำเป็นรูปกลีบบัวเชิงลอยตัว สลักบนหินชิ้นเดียวกันกับหินมุงหลังคา

ที่ปราสาทบันทายสรี พุทธศตวรรษที่ 16

รูปแบบการสลักหลังคาหินแบบเรียบไม่มีลอน(กระเบื้อง)

ชายหลังคาทำเป็นรูปกลีบบัวลอยตัว สลักบนหินชิ้นเดียวกันกับหินมุงหลังคา

ที่ปราสาทประธาน ปราสาทเขาพนมรุ้ง พุทธศตวรรษที่ 17

         รูปแบบหลังคา (มุง) หิน ของปราสาทหินในยุคก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 16 ไม่ค่อยนิยมทำเลียนแบบลอนหลังคากระเบื้องดินเผา หรือถ้าทำ ก็จะแกะสลักเป็นลอนเรียบ ไม่มีการตกแต่งลวดลายใด ๆ บนลอนหิน (เลียนแบบ) ส่วนปลายหรือชายหลังคาก็นิยมทำเป็นทับหลังผนัง เลียนแบบเชิงชายรูปกลีบบัว และรูปกลีบบัวมีเกสรเป็นรัศมีเสียเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งแบบเป็นชิ้นเดียวกับหลังคา และแบบแยกมาเป็นคานบัวเชิงชาย(ลอยตัว)โดยเฉพาะ ส่วนยอดสันของคานหลังคาก็จะแกะสลักเป็นรูปบราลีหินทราย เข้าเดือย วางเรียงประดับเช่นเดียวกับการประดับบราลีกระเบื้องบนหลังคาโครงไม้

รูปแบบการสลักหลังคาหินเลียนแบบกระเบื้องลอน

ชายหลังคาไม่มีการสลักลวดลาย

ปราสาทพิมานอากาศ ปลายพุทธศตวรรษที่ 15

คานหินชายหลังคาสลักเป็นรูปกลีบบัว เลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย

แยกส่วนออกจากหินมุงหลังคาที่เป็นแบบเรียบไม่มีลอน

ปราสาทประธาน ปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์ กลางพุทธศตวรรษที่ 16

คานหินชายหลังคาสลักเป็นรูปกลีบบัว เลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย

สลักบนคานหินแยกส่วนออกจากหินมุงหลังคาที่เป็นแบบเรียบไม่มีลอน

อาคารบรรณาลัย ปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ต้นพุทธศตวรรษที่ 16

หินทรายสลักเป็นรูป "บราลี" ขนาดใหญ่ ใช้ประดับบนสันหลังคา

ที่เคยอยู่บนหลังคาหินเลียนแบบเครื่องไม้ของระเบียงคด

ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ต้นพุทธศตวรรษที่ 17

         รูปแบบของหลังคาหินที่สวยงามที่สุด ก็คงเป็นที่ “ปราสาทนครวัด”  (Angkor Wat Pr.) ตัวหลังคา ทำเป็นรูปโค้งประทุนเรือ บนหลังคาสลักเป็นรูปกระเบื้องลอน (ตัวผู้ - กาบกล้วย) จำลอง บนสันของลอน สลักเป็นลวดลายก้านต่อดอก ปลายล่างชายหลังคา สลักเป็นรูปเลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย แต่มีความวิจิตรบรรจง เพราะนอกจากจะสลักเป็นรูปกลีบบัว มีเกสรเป็นรัศมี ตามแบบปราสาทในยุคก่อนหน้าแล้ว ยังสลักเป็นรูปหน้าสิงห์ รูปสิงห์ทั้งตัว รูปครุฑยุดนาค (ประกอบลายพรรณพฤกษา) และรูปเทพเจ้าครึ่งตัวประกอบลายพรรณพฤกษา อีกด้วย

หลังคาหินเลียนแบบเครื่องไม้ ทำเป็นลอนกระเบื้องมีลวดลาย

ปลายของชายหลังคาทำเป็นรูปหน้าสิงห์

มหาปราสาทนครวัด กลางพุทธศตวรรษที่ 17

ภาพสลักหินเลียนแบบกระเบื้องเชิงชายทำเป็นรูปครุฑยุดนาค

มหาปราสาทนครวัด กลางพุทธศตวรรษที่ 17

ภาพสลักหินเลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย ทำเป็นรูปสิงห์ทั้งตัว

มหาปราสาทนครวัด กลางพุทธศตวรรษที่ 17

         มาถึงยุคศิลปะแบบปราสาทบายน รูปแบบของหลังคายิ่งทำเป็นลอนเลียนแบบหลังคาเรือนไม้ทั้งหมด ทั้งชั้นบนหลังคาและหลังคาชั้นลด ชั้นบนคานสันหลังคาวางบราลีหินหรือรูปสลักพระพุทธเจ้าหรือฤๅษีในซุ้มเรือนแก้ว ชายหลังคาก็มักจะนิยมทำเป็นเชิงชายหินรูปกลีบบัว หรือง่ายหน่อยก็อาจสลักให้หลังคาหายเข้าไปในคานโดยไม่ต้องสลักรูปกลีบบัวเชิงชายแต่อย่างใด

หลังคาหินทำเป็นลอนกระเบื้องเลียนแบบเครื่องไม้

ปลายของชายหลังคาทำเป็นรูปกลีบบัวเชิงชาย

ปราสาทวหนิคฤหะแห่งปราสาทพระขรรค์ กลางพุทธศตวรรษที่ 18

อาคารปราสาท สร้างเลียนแบบอาคารเครื่องไม้ทั้งหลัง

หลังคาทำเป็นลอนกระเบื้องเลียนแบบเครื่องไม้

ปลายของชายหลังคาทำเป็นรูปกลีบบัวเชิงชาย

โคปุระทิศตะวันออก ปราสาทพระขรรค์ กลางพุทธศตวรรษที่ 18

กลีบบัว ฤๅษี พรรณพฤกษา ครุฑ นาค

เทพยดา อสุรา ศิวะ พระ อัปสรา หน้ากาล สิงห์

ศิลปะและลวดลาย...บนกระเบื้องเชิงชาย

         จากร่องรอยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของหลังคาเรือนไม้ ที่อาจได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มชนทางตอนใต้ของจีน ผ่านกระบวนการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 มีพัฒนาการจนกลายมาเป็นแบบแผนศิลปะของชาวกัมพุชเทศอย่างสมบูรณ์ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14

         รูปแบบของเครื่องกระเบื้องประกอบหลังคา ที่ผลิตจากเตาเผาหรือที่ขุดพบชิ้นส่วนได้ตามแหล่งโบราณคดีประเภทปราสาทหินและชุมชนโบราณทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา ที่มีทั้งแบบเคลือบ “น้ำเคลือบขี้เถ้าพืช” (Ash glaze)แบบไม่เคลือบเนื้อแกร่งจนมาถึงแบบกระเบื้องดินเผา (Clay Tiles) นับจากกระเบื้องตัวผู้ กระเบื้องตัวเมีย บราลี กระเบื้องเชิงชาย และอื่น ๆ ส่วนที่มีความหลากหลายของลวดลายศิลปะมากที่สุดก็คงจะเป็น “กระเบื้องเชิงชาย” (Antefix – Eaves Tile) หรือเรียกกันตามแบบช่างพื้นบ้านว่า “กระเบื้องหน้าอุด” (เอาไว้อุดรูกระเบื้องลอน) ก็ได้ครับ

กระเบื้องเชิงชายแบบมีน้ำเคลือบสีเขียวอ่อนรูปกลีบบัวและนาคสามเศียร

พิพิธภัณฑ์โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร จังหวัดบุรีรัมย์

ภาพจำลองแสดงการเข้ากระเบื้องแบบต่าง ๆ บนโครงสร้างหลังคา

ปราสาทแปรรับ ต้นพุทธศตวรรษที่ 15

         ด้วยเพราะต้องผลิตในแบบเดียวกัน ครั้งละเป็นจำนวนมาก ๆ ศิลปะลวดลายที่เกิดขึ้นบนกระเบื้องเชิงชาย จึงมักเกิดขึ้นจากเทคนิคการขึ้นรูปด้วยการกดทับ (พิมพ์) ถอดออกจาก “แม่พิมพ์” (Molding) ที่อาจทำจากแม่พิมพ์หินทราย ดินเผาหรือไม้ เราสามารถมองเห็นร่องรอยของเทคนิคการถอดแบบแม่พิมพ์ได้จากลวดลายที่ไม่ละเอียดนัก ฟองอากาศ การตกแต่ง การปาดดินขอบที่เกินออกมาจากพิมพ์ การเชื่อมต่อของแผ่นหน้าเข้ากับกระเบื้องตัวผู้ในขณะที่ดินยังชุ่มน้ำ ร่องรอยการประกบชน และการกดตกแต่งให้เป็นชิ้นเดียวกัน รวมถึงการตกแต่งเพิ่มเติมได้บนกระเบื้องเชิงชายทุกแผ่นเลยครับ

ร่องรอยการปาดดินตกแต่งบริเวณรอยเชื่อมต่อของแผ่นหน้าเข้ากับกระเบื้องตัวผู้ด้านหลัง

ร่องรอยการปาดดินตกแต่งและการปั้นสันติดทับลงไปบนส่วนยอดแหลม

บริเวณรอยเชื่อมต่อของแผ่นหน้าเข้ากับกระเบื้องตัวผู้ด้านหลัง

         เป็นที่น่าสังเกตว่า เราจะพบชิ้นส่วนของกระเบื้องหลังคา บราลีและเชิงชายที่มีน้ำเคลือบสีสันสวยงาม หรือมีรูปทรง ศิลปะลวดลายที่งดงามตระการตา ตามแหล่งอาคารเรือนไม้ที่มีความสำคัญ เช่นเขตปราสาทราชวัง เขตพระราชฐาน อาคารศาสนสถาน (รอบปราสาทหิน) ปริมณฑลศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่

ภาพลายเส้นของลวดลายบนกระเบื้องเชิงชาย ที่พบในเขตพระราชวังหลวง

         ส่วนกระเบื้องแบบไม่เคลือบ เนื้อแกร่งไปจนถึงเนื้อดินเผา สีสันไม่สวยนัก ก็มักจะพบในพื้นที่ห่างไกลออกไปจากศูนย์กลางชุมชนแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา อาจใช้ในศาสนสถานประจำชุมชน (สุรุก) ขนาดเล็ก อาคารราชการ อาคารทางศาสนาภายนอกปราสาทใหญ่ บ้านเรือนของชนชั้นปกครอง ศาลา โดยเฉพาะศาลาเรือนไม้ที่ใช้ประโยชน์อยู่ร่วมกับปราสาทประเภทธรรมศาลา หรือร่วมกันกับปราสาทสุคตาลัยในกลุ่มอโรคยศาลา ก็จะพบเศษกระเบื้องดินเผาเนื้อสีไม่สวยนักกระจายตัวอยู่ทั่วไปครับ

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว แบบมีเส้นคั่นกลาง

พบที่ปราสาทพลสงคราม (สุคตาลัยแห่งอโรคยศาลา) จังหวัดนครราชสีมา

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว แบบต่าง ๆ

พบที่ปราสาทสามองค์ วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18

          รูปแบบของกระเบื้องตัวผู้ กระเบื้องตัวเมียและบราลี จากในยุคพุทธศตวรรษที่ 14 – 18 ยังคงมีรูปทรงลักษณะและทำหน้าที่ที่คล้ายคลึงกันมาโดยตลอด ต่างจากกระเบื้องเชิงชาย ที่ถึงแม้ว่าจะถูกใช้อุดช่องกระเบื้องที่ชายคารวมทั้งใช้เป็นกระเบื้องประดับตกแต่งเหมือนกับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับอิทธิพลมาจากช่างชาวจีน แต่ก็มี “ศิลปะลวดลาย” ที่งดงาม หลากหลายกว่าเครื่องกระเบื้องดินเผาชนิดอื่น ๆ

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว แบบมีสันนูนตรงกลาง

ปลายด้านบนโค้งตวัดออกมาเล็กน้อย

น้ำเคลือบขี้เถ้าพืชสีเขียวแบบ "เซลาดอน" .

พบที่แหล่งเตาในเขตบ้านสายโท 2 อำเภอบ้านกรวด

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16

         กระเบื้องเชิงชายเป็นกระเบื้องดินเผา(ทั้งแบบเคลือบ ไม่เคลือบ และแบบดินเผาธรรมดา) รูปทรงสัณฐานส่วนใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานด้านล่างกว้าง แล้วโค้งมนสอบเข้าหากันแบบกลีบบัว ด้านหลังเป็นกระเบื้องลอนแบบเดียวกับกระเบื้องตัวผู้ โค้งเอียงไปตามมุมของโครงสร้างหลังคา (ตามมุมของจันทัน) มีเดือยเล็ก ๆ อยู่ข้างใต้ลอนเพื่อใช้ยึดเข้ากับกระเบื้องตัวเมีย ปลายกระเบื้องด้านหลังจะสอบเข้า เล็กกว่าด้านหน้า เพื่อสอดเข้ากับกระเบื้องตัวผู้ตัวด้านบนที่มีปลายลอนโค้งกว้างกว่า

กระเบื้องเชิงชายรูปแบบต่าง ๆ

ทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ รวมทั้งแบบเนื้อดินเผา.

พบที่แหล่งเตาทะนอล มะเลจ บนเขาพนมกุเลน

อายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 - 17

          ด้านหน้าของกระเบื้องเชิงชาย เป็นแผ่นตั้งตรง หรืออาจเอียงไปทางด้านหลังเล็กน้อย นิยมทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่สวยงาม จะมีรูปอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยครับ

         ลวดลายแรก ๆ ของกระเบื้องเชิงชาย ที่นิยมผลิตมากที่สุด หรือประมาณ 80 % ของลวดลายที่พบทั้งหมด เป็นกระเบื้องเชิงชาย “รูปกลีบบัว” (Lotus petal eave tiles) ที่เก่าแก่ที่สุดก็อาจมีอายุอยู่ในปลายพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ปรากฏอิทธิพลของเครื่องเคลือบจีนอย่างเป็นรูปธรรม ศิลปะของกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว ในยุคแรกพบจากการขุดค้นที่

แหล่งเตาทะนอล มะเลจ (Thnal Mrech) ซึ่งเป็นกลุ่มเตาบนเขาพนมกุเลน (Phnom Kulen) อายุอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งก็ได้พบชิ้นส่วนของกระเบื้องรูปกลีบบัวรูปแบบเดียวกันนี้ ที่ปราสาทพะโค (Preah Ko Pr.)ปราสาทบากอง (Ban kong Pr.) และบริเวณเมืองโบราณ “หริหราลัย”ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรในช่วงนั้นครับ

รูปแบบจำลองของกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว

ที่พบจากปราสาทพะโค อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14

ชิ้นส่วนแตกหักของกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว

คล้ายคลึงกับที่พบจากปราสาทพะโค ปะปนอยู่กับกระเบื้องเชิงชายลวดลายอื่น ๆ

ที่พบจากแหล่งเตาทะนอล มะเลจ บนเขาพนมกุเลน

ภาพลายเส้นของกระเบื้องเชิงชายที่พบในเขตพระราชวังหลวง

ก็มีลวดลายเดียวกับกับที่พบที่ปราสาทพะโค

         รูปแบบของกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว จะแบ่งออกเป็นสองแบบ คือแบบตรงกลางนูนโค้งหรือนูนเป็นสัน บางชิ้นปลายกลีบบัวยอดแหลมด้านบนจะโค้งตวัดออกมาเล็กน้อย ด้านนอกอาจทำเป็นบัว 2 ชั้น ขอบนอกทำเป็นซุ้มฟันปลา ใบระกา กระหนกครีบสิงห์หรือลายเกสรบัว หรือทำเป็นรูปกลีบบัวซ้อนกลีบบัว มีเกสรเป็นรัศมี

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวสองชั้น ขอบนอกทำเป็นลายเกสรล้อมรอบ

พบที่แหล่งเตาทะนอล มะเลจ บนเขาพนมกุเลน

ก่อนที่จะมีการขุดค้นทางโบราณคดีในปี 2006

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวตรงกลางนูน กลีบในทำเป็นลายเกสรม้วนล้อมรอบ

ขอบนอกเป็นกลีบบัวอีกชั้น

พบที่แหล่งเตาทะนอล มะเลจ บนเขาพนมกุเลน

อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 16

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวสองชั้น ทั้งสองกลีบทำเป็นลายเกสรล้อม

พบจากแหล่งเตาตานี ทางทิศตะวันออกของเขาพนมบก

อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 16

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวตรงกลางนูน ขอบนอกเป็นลายเกสรม้วน

พบที่แหล่งเตาทะนอล มะเลจ บนเขาพนมกุเลน

อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 16

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวสามชั้นตรงกลางนูน

ขอบนอกของกลีบด้านในทำเป็นลายเกสรม้วน

พบที่แหล่งเตาเผาในเขตจังหวัดบุรีรัมย์

อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

         อีกแบบหนึ่ง ตรงกลางจะมีแนวเส้นคั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน บางชิ้นมีเส้นกลางหรือแทรกลายลูกปะคำกลม(ละอองเกสร) มีลายเส้นรูปตัว U คว่ำ โค้งมนตรงส่วนยอดฝั่งละ 2 แถว บางทีก็มีการใส่ลวดลายของเกสรเข้าไปเป็นรัศมี 1 ชั้นหรือ 2 ชั้น ตรงปลายยอดแหลมของกลีบบัว บางชิ้นก็มีการทำเป็นรูปโค้งงอออกมาเล็กน้อย รูปแบบนี้จะพบในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 16 เสียเป็นส่วนใหญ่

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวแบ่งเป็นแนวตรงกลาง ขอบนอกเป็นลายเกสรหรือใบระกา

พบที่บริเวณปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวแบ่งเป็นแนวตรงกลาง ขอบนอกเป็นลายพวยรัศมีหรือใบระกา

พบที่บริเวณปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวแบ่งเป็นแนวตรงกลาง

บางชิ้นทำเป็นรูปคล้ายลายลูกปะคำหรืออาจเป็นลายเม็ดเกสร

ขอบนอกเป็นลายพวยกนก รัศมีหรือใบระกา

พบที่ปราสาทบ้านหนองแฝก (สุคตาลัยแห่งอโรคยศาลา) จังหวัดชัยภูมิ

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18

กระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวแบ่งเป็นแนวตรงกลาง

ขอบนอกเป็นกนกลายพวยใบไม้ม้วน ด้านล่างทำเป็นลายรัดกระบัง

มีรัศมีเป็นรูปกนกลายใบไม้

พบที่บริเวณเมืองโบราณลพบุรี

อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17

         ลวดลายศิลปะของกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว ได้รับความนิยมนำแกะสลักเลียนแบบบนคานหินทราย ที่ใช้รองรับหลังคาทั้งแบบหลังคาโครงไม้มุงกระเบื้องและแบบหลังคามุงหิน ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน จนมีคำเรียกส่วนประกอบของผนังที่ยื่นโค้งออกมาด้านบนและด้านล่างว่า “คิ้วบัว” หรือ “บัวติดผนัง” (ทั้ง ๆ ที่ ไม่เห็นจะเหมือนรูปบัวตรงไหน) ไงครับ

รูปสลักเลียนแบบกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว บนคานหินแยกจากชั้นหลังคา

ปราสาทพระวิหาร ต้นพุทธศตวรรษที่ 16

.

รูปสลักเลียนแบบกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัว บนคานหินแยกจากชั้นหลังคา

ปราสาทเมืองต่ำ กลางพุทธศตวรรษที่ 16

          ที่ได้รับความนิยม นำมาทำเป็นลวดลาย ประดับชายหลังคาปราสาท ก็คงเป็นเพราะ “คติความเชื่อ” ของฮินดู ที่เชื่อว่า “กลีบบัวทั้ง 8 (Eight Lotus Petal) นั้น แทนความหมายของ "มูรติทั้ง 8" หรือ “อัษฏมูรติ” อันเป็นส่วนประกอบของพลังแห่งพระศิวะ ประกอบด้วย ศรี วุฒิ พินาศ สัญจร การถูกขโมย โรคา ยศศักดิ์ ความรุ่งเรืองและอายุขัย กลีบบัวมีความหมายถึง “ความอุดมสมบูรณ์ - ความมงคล” เพราะดอกบัวเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ เช่นกรณีการเกิดของดอกบัวที่สะอาดบริสุทธิ์เหนือโคลนตมตามธรรมชาติ การถือดอกบัวและการเสด็จออกมาจากดอกปทุมาของพระนางลักษมี ในรูป “อภิเษกพระศรี”เป็นสัญลักษณ์ของความงาม โชคลาภ ความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ เราจะพบเห็นรูปสลักของเทพเจ้าถือบัวขาบ นั่งบนหน้ากาล หรือนางอัปสราถือแซ่จามรและถือบัวขาบอันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคลบนสรวงสวรรค์ อยู่ตามปราสาทหินทั่วไป

ลอยตัว รูปสลักลวดลายกลีบบัวสองชั้น เลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย บนหินชิ้นเดียวกับหลังคา

ปราสาทบันทายสรี กลางพุทธศตวรรษที่ 15

รูปสลักลอยตัว ลวดลายกลีบบัวสองชั้นเลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย บนคานหินแยกจากชั้นหลังคา

ปราสาทพนมวัน ปลายพุทธศตวรรษที่ 16

โกลนของรูปสลักลอยตัว ลวดลายกลีบบัวเลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย บนคานหินแยกจากชั้นหลังคา

เนินนางอรพิม ใกล้กับปราสาทพนมวัน ต้นพุทธศตวรรษที่ 18

          ในอีกหลายความหมาย รูปของบัวบานที่มีกลีบแยกมักจะถูกสร้างสรรค์แกะสลักให้รองอยู่ใต้พระบาทของเหล่าเทพเจ้า แทนความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และถือกำเนิดด้วยความบริสุทธิ์ ลวดลายกลีบบัวทั้งที่เป็นหินสลักและกระเบื้อง จึงถูกใช้เพื่อแทนความหมายของ ขอบเขตแห่งศูนย์กลางของความศักดิ์สิทธิ์ ความบริสุทธิ์ ความเป็นมงคลของศูนย์กลางแห่งจักรวาลอันเป็นเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ซึ่งนั่นก็คงหมายถึงตัวอาคารศาสนสถานที่สร้างขึ้นนั่นเอง

รูปสลักลวดลายกลีบบัวสองชั้นเลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย บนคานหินแยกจากชั้นหลังคา

มุมระเบียงคดฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ปราสาทพนมรุ้ง ต้นพุทธศตวรรษที่ 17

รูปสลักลวดลายกลีบบัวสองชั้นเลียนแบบกระเบื้องเชิงชาย บนคานหินแยกจากชั้นหลังคา

เคลื่อนย้ายมาจากปราสาทเมืองต่ำมาใช้ประกอบปราสาทในยุคหลัง

ที่ปราสาทกุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง อายุรูปสลักกลีบบัวอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16

          ลวดลายของกระเบื้องเชิงชายแบบที่สอง คือ รูป “ฤๅษี (Rishi) ในซุ้ม” เป็นรูปของฤๅษี ในท่านั่งแบบ “โยคาสนะ” (นั่งชันเข่าและไขว้เท้า) กลางซุ้มโค้งปลายยอดแหลมชั้นเดียวจนถึงหลายชั้น ด้านนอกทำเป็นลวดลายใบไม้ม้วน ลายฟันปลา หรือลายไข่ปลา เดินเส้นขอบชั้นเดียวถึงหลายชั้น ขอบด้านนอกสุดทำเป็นแง่ง สลับฟันปลาคล้ายลายใบไม้หยัก กระเบื้องเชิงชายลวดลายรูปฤๅษี นี้ เคยพบที่แหล่งเตาทะนอล มะเลจ (Thnal Mrech) บนเขาพนมกุเลน และที่ปราสาทพนมวัน (Phanom Wan Pr.) จังหวัดนครราชสีมา อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ครับ

กระเบื้องเชิงชายลวดลายรูปฤๅษี

พบที่แหล่งเตาทะนอล มะเลจ (Thnal Mrech) บนเขาพนมกุเลน

อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16

กระเบื้องเชิงชายลวดลายรูปฤๅษี

พบที่ปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา

อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16

         ลวดลายของกระเบื้องเชิงชายแบบที่สาม เป็นรูป “ลายพรรณพฤกษา” เป็นกระเบื้องเชิงชายที่ไม่พบบ่อยนัก มีหลากหลายลวดลาย แบบที่เคยพบบนเขาพนมกุเลน เป็นกระเบื้องเชิงชายที่มีน้ำเคลือบขี้เถ้าพืช ลายใบไม้ม้วน 4 แถบ สัณฐานรูปทรงคล้ายกระจังใบเทศสามเหลี่ยม อายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งก็อาจเป็นรูปแบบเชิงชายที่มีความเก่าแก่ที่สุดเลยก็ได้ ? ครับ

กระเบื้องเชิงชายลวดลายพรรณพฤกษา

พบที่แหล่งเตาบนเขาพนมกุเลน

อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14

         ส่วนลายพรรณพฤกษาอีกแบบเป็นลายใบไม้ ที่มีแบบแผนรูปทรงเดียวกับกลีบบัว แต่เพิ่มเติมลวดลายคล้ายมาลัยถักเข้าไป ขอบด้านนอกทำเป็นแง่งฟันปลาหรือเปลวใบไม้หยัก ลอยตัวเรียงขึ้นไปด้านบน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 พบที่แหล่งเตาทะนอล มะเลจ (Thnal Mrech)

กระเบื้องเชิงชายลวดลายพรรณพฤกษา

พบที่แหล่งเตาทะนอล มะเลจ (Thnal Mrech) บนเขาพนมกุเลน

อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16

         กระเบื้องเชิงชายลวดลายพรรณพฤกษาที่งามที่สุด น่าจะเป็นกระเบื้องเชิงชายเคลือบที่พบในบริเวณเขตพระราชวังหลวง (Royal Palace)แห่งศรียโศธรปุระ ที่มีลวดลายและรัศมี เป็นรูปโครงสร้างแบบกลีบบัวหรือเค้าโครงของกระจังหู ผสมลวดลายใบไม้ หรือกนกครีบสิงห์ ด้านล่างทำเป็นรูปคล้ายดอกจำปี ด้านนอกทำเป็นแง่งฟันปลาหรือเปลวใบไม้หยัก ลอยตัวเรียงแถวขึ้นไปด้านบน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

กระเบื้องเชิงชายลวดลายพรรณพฤกษา

พบที่บริเวณพระราชวังหลวง (Royal Palace)

อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15

กระเบื้องเชิงชายลวดลายพรรณพฤกษา

พบที่บริเวณฐานพลับพลาช้าง(The Terrace of Elephants)

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18

         กระเบื้องเชิงชายรูปแบบที่สี่ เป็นศิลปะลวดลายของ “ครุฑยุดนาค”  (Garuda fighting Naga) ที่จะพบมากในกลุ่มเตาเขตเขมรสูง (อีสานใต้) ในพื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์มหิธรปุระ นับจากลพบุรี พิมาย พนมรุ้ง ไปตามเส้นทางราชมรรคาลงไปสู่เขตเขมรต่ำ อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17

         กระเบื้องเชิงชายรูปครุฑยุคนาค น่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงที่อาณาจักรกัมพุชเทศ ได้รับอิทธิพลทางความเชื่อในลัทธิ “ไวษณพนิกาย” (ถือพระวิษณุเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่) เปลี่ยนแปลงจากคติความเชื่อเดิม ที่เคยเป็นแบบถือพระศิวะเป็นใหญ่ (ไศวะนิกาย)และถือเทพเจ้าสามองค์เป็นใหญ่ (ลัทธิตรีมูรติ) ลวดลายครุฑที่มีความหมายถึงพลังอำนาจลึกลับของ “เทวะสัตว์” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในมวลสัตว์โลก ปรากฏเรื่อราวในวรรณกรรมโบราณ ที่กล่าวถึงครุฑผู้รับใช้ ผู้ช่วยเหลือพระวิษณุ หรือเป็นสัญลักษณ์แทนพระวิษณุ รวมทั้งเรื่องของการต่อสู่ระหว่างครุฑกับนาค ที่ปรากฏในวรรณกรรมโบราณ ที่ได้เล่าถึงเรื่องราวของครุฑที่ต้องไปขโมยน้ำอมฤตเพื่อนำมาไถ่ตัวมารดาจากพวกนาค จนกลายเป็นศัตรูที่จะต้องต่อสู้กัน และครุฑที่รับพรจากพระอินทร์เป็นฝ่ายชนะและจับนาคกินเป็นอาหาร

กระเบื้องเชิงชายลวดลายครุฑยุดนาค

พบจากแหล่งเตาบ้านสายโท 2 อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17

         รูปของครุฑยุคนาคในความหมายของผู้มีพลังยิ่งใหญ่ (เหนือนาค เทวดาและพระอินทร์) และความหมายแห่งองค์พระวิษณุ (ที่เท่าเทียมกัน) จึงถูกนำมาแกะสลักที่เชิงชายหินประดับระเบียงของหลังคาปราสาทนครวัด ปราสาทเบงเมเลีย มหาปราสาทขนาดใหญ่ 2 แห่งที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อในลัทธิไวษณพนิกาย กระเบื้องเชิงชายรูปแบบนี้ ถูกผลิตขึ้นใช้ในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก เพื่อมาทดแทน สับเปลี่ยนกระเบื้องเชิงชายรูปแบบเดิม ประดับตกแต่งเรือนหลังคาปราสาทหิน ที่สร้างขึ้นตามคติเดียวกัน หรือปราสาทที่มีการบูรณะซ่อมแซมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17

         ในยุคหลังก็ยังมีการสร้างกระเบื้องเชิงชายในรูปแบบ “ครุฑ” แต่ก็ไม่นิยมทำเป็นรูปครุฑยุดนาคอย่างในยุคก่อน ตัวอย่างเช่น กระเบื้องเชิงชายรูปครุฑ ? ดินเผา ที่พบจากการขุดค้นที่ปราสาทพลสงคราม (ปราสาทสุคตาลัยแห่งอโรคยศาลา) อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ที่ดูเหมือนจะสร้างขึ้นในท้องถิ่น เป็นรูปครุฑแบบง่าย ๆ ขอบด้านนอกทำเป็นรูปหยักแบบฟันปลา รูปทรงสามเหลี่ยมแบบกระจังตาอ้อย อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18

กระเบื้องเชิงชายลวดลายครุฑ

พบที่ปราสาทพลสงคราม จังหวัดนครราชสีมา

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18

         ลวดลายศิลปะของกระเบื้องเชิงชายแบบที่ห้า เป็นรูป “นาคสามเศียร” อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 17 พบจากแหล่งเตาบ้านโนนสว่าง – บ้านโคกกลอย จังหวัดบุรีรัมย์ มีลักษณะเดียวกันกับกระเบื้องรูปครุฑยุคนาค คือจะพบอยู่ในเขตอิทธิพลของราชวงศ์มหิธระปุระ นับจากลพบุรี พิมาย พนมรุ้ง ไปตามเส้นทาราชมรรคาลงไปสู่เขมรต่ำ กระเบื้องจากแหล่งเตาเผาที่บ้านโนนสว่าง น่าจะถูกนำไปใช้กับอาคารเรือนเครื่องไม้ที่สร้างอยู่โดยรอบปราสาทหินพนมรุ้งและศาสนสถานในยุคพุทธศตวรรษที่ 17 ที่อยู่ใกล้เคียงกับเส้นทางราชมรรคา

กระเบื้องเชิงชายลวดลายนาคสามเศียร

พบจากแหล่งเตาบ้านโนนสว่าง - โคกกลอย จังหวัดบุรีรัมย์

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17

จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร

กระเบื้องเชิงชายลวดลายนาคสามเศียร

พบจากแหล่งเตาบ้านโนนสว่าง - โคกกลอย จังหวัดบุรีรัมย์

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17

          ตามคติของฮินดู “นาค” จะมีความหมายถึง “ความอุดมสมบูรณ์” เพราะเป็นเทวะสัตว์ที่เกี่ยวพันกับน้ำ การเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ธัญญาหารและผลผลิตที่เพิ่มพูน อีกทั้งเรื่องราวของ “พญาอนันตนาคราช” ที่ขดตัวเป็นแท่นบรรทมของพระวิษณุก็แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจ ในคติความเชื่อของไศวนิกายถือว่านาคเมื่อยามแสดงอิทธิฤทธิ์ จะกลายเป็น “สะพานสายรุ้ง” เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ การนำรูปของนาคมาใช้เป็นลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายประดับอาคารศาสนสถาน จึงมีความหมายถึงอำนาจของนาค ที่นำมาไปสู่ความสูงศักดิ์ อำนาจ ความอุดมสมบูรณ์ และแสดงการข้ามเข้าสู่เขตสรวงสวรรค์สมมุติ นั่นก็คือการเข้าไปในศาสนสถานแห่งเทพเจ้า (พระศิวะ – ตรีมูรติ) นั่นเอง

กระเบื้องเชิงชายลวดลายนาคสามเศียร

พบจากแหล่งเตาบ้านโนนสว่าง - โคกกลอย จังหวัดบุรีรัมย์

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17

         กระเบื้องเชิงชายแบบที่หก เป็นลวดลายของ “เทพยดา” เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะนิยมทำเป็นรูปหน้าของทวารบาลหรืออสูร รูปเทวาหรือเทวดาส่วนใหญ่จะเริ่มมานิยมในยุคหลัง โดยจะทำเป็นรูปเทพพนม ตัวอย่างที่พบที่ "ปราสาทราชวิหารแห่งวิษัยศรีชยะราชปุระ" (ในเขตวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชบุรี) เป็นชิ้นส่วนกระเบื้องเคลือบรูปบุคคล มีเครื่องประดับ ยกมือขึ้นประนมอยู่กลางพระอุระ อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 และชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชาย ที่เคยใช้ประดับศาสนาสถานในคติวัชรยาน ที่สิ้นสภาพไปแล้วในเขตภาคกลางของลุ่มเจ้าพระยา ทำเป็นรูปบุคคลใบหน้าแบบบายน สวมศิราภรณ์เป็นกระบังหน้า เหนือขึ้นไปมีลายใบระกา รัศมีหรือฟันปลา ด้านล่างหักหายไป ซึ่งก็น่าจะเป็นรูปประนมหัตถ์ที่กลางพระอุราแบบเดียวกับที่พบที่ราชบุรี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ศิลปะแบบช่างหลวงเมืองพระนครผสมผสานช่างท้องถิ่น

กระเบื้องเชิงชายลวดลายเทพยดาประนมหัตถ์กลางพระอุระ

พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี บริเวณวัดมหาธาตุราชบุรี

อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18

          จากรูปแบบของเทพยดา ทั้งสองและรูปแบบกระเบื้องแบบเดียวกัน (ส่วนใหญ่จะแตกละเอียด ยังหาแบบสมบูรณ์ไม่พบ ?) อาจเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสู่ช่างในยุคหลัง ที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ปราสาทราชวิหารในยุคบายน แปลงไปเป็นพระธาตุในคติเถรวาท รูปบุคคลยกมือไหว้จึงถูกดัดแปลงกลายเป็นกระเบื้องเชิงชายลวดลายศิลปะรูปเทพพนมและลวดลายพรรณพฤกษา ในช่วงเวลาต่อมา

กระเบื้องเชิงชายลวดลายเทพยดา (ภาพตกแต่ง)

พิพิธภัณฑสถานชัยนาทมุนี จังหวัดชัยนาท

อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18

         ความหมายของรูปเทวดาประนมหัตถ์วันทา อาจหมายถึงภาพของบุคคลที่หลุดพ้น บรรลุโพธิญาณขึ้นเป็นเทวดาบนสรวงสวรรค์ หรือเป็นภาพของเหล่าเทพยดา – พระโพธิสัตว์ที่กำลังถวายนมัสการแก่อาทิพุทธเจ้าในคติความเชื่อแบบวัชรยาน หรือ อาจแทนความหมายของซุ้มบัญชร วิมานที่ประทับของเหล่าเทพยดา –มานุษิโพธิสัตว์ ที่มีอยู่มากมายในสรวงสวรรค์ จักรวาลแห่งพุทธะหรือ ยันตรมณฑล (Mandala) ซึ่งก็สอดคล้องกับกระเบื้องเชิงชายรูปเทพยดาที่เรียงรายบนอาคารในศาสนาสถาน ที่ถูกสมมุติให้เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล

         ลวดลายแบบที่เจ็ด คือกระเบื้องเชิงชาย “รูปอสูร” เป็นรูปแบบที่อาจได้รับอิทธิพลผสมมาจากทั้งคติความเชื่อจากทางจีนและอินเดีย ลวดลายอสูรเป็นลักษณะของใบหน้าของบุคคล ที่มีปากหนา คิ้วหนา ตาโปนใหญ่ สวมศิราภรณ์ หรือเครื่องประดับศีรษะ ส่วนใหญ่ทำโครงร่างของกระเบื้องเป็นรูปทรงกลีบบัว หรือรูปเกือบกลม คล้ายกระเบื้องเชิงชายของจีนและกลุ่มชุมชนโบราณชายฝั่งทะเลในเวียดนาม กระเบื้องเชิงชายรูปลายนี้พบกระจายตัวอยู่ในเขต กลุ่มชุมชนโบราณใกล้แนวเทือกเขาพนมดงรัก ชุมชนรอบเขาพนมรุ้ง พิมาย ไปตามเส้นทางราชมรรคาไปจนถึง “ใกล้” เขตเมืองพระนครหลวง เลยไปจนถึงเมืองพระนครกลับไม่พบกระเบื้องรูปแบบนี้

กระเบื้องเชิงชายลวดลายหน้าอสูร - ทวารบาล

ขอบนอกทำเป็นลายรัศมีหรือใบระกา

พบที่แหล่งเตาเผาในเขตจังหวัดบุรีรัมย์

อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

กระเบื้องเชิงชายลวดลายหน้าอสูร - ทวารบาล

ขอบนอกทำเป็นลายรัศมีหรือลายกนกม้วน

พบที่ปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16

         ความหมายของลวดลายหน้าอสูรบนกระเบื้องเชิงชายนี้ อาจมีได้ 2 นัยยะ คือ ความหมายในคัมภีร์ปุราณะ ที่อธิบายว่า มีเหล่า “อสูร – ยักษ์ – อสุรา” ผู้ยิ่งใหญ่ มีตบะแกร่งกล้า เป็นสาวก(ลูกน้อง)แห่งพระศิวะ ที่มีพลังอำนาจ ดูน่ากลัว นิยมนำมาสลักไว้ในเขตปริมณฑลศักดิ์สิทธิ์ เพื่อคอยเตือนใจให้ผู้แสวงบุญได้รู้สึกเกรงกลัว สำรวม ไม่รุ่มร่าม ไม่กล้าลบหลู่เหล่าทวยเทพ คอยปกป้องมิให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามารบกวนแก่สาธุชนในศาสนสถานแห่งพระผู้เป็นเจ้า

กระเบื้องเชิงชายลวดลายหน้าอสูร - ทวารบาล

ขอบนอกทำเป็นลายรัศมีหรือลายกนกม้วน

พบที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17

         ในอีกความหมายหนึ่ง คติของการนำรูปอสูรมาประดับไว้ในอาคารศาสนสถาน อาจแทนความหมายของรูปยักษ์ “ทวารบาล” ที่คอยเฝ้าปกปักษ์ศาสนสถาน ซึ่งอาจหมายถึงรูปของ อสูรทวารบาล “นันทิเกศวร” ผู้ปกปักษ์แห่งพระศิวะ ตามคติไศวะนิกาย ก็เป็นได้ครับ

         ศิลปะลวดลาย บนกระเบื้องเชิงชายแบบที่แปด คือรูป “พระศิวะ”เป็นกระเบื้องเชิงชายทรงสามเหลี่ยมปลายโค้งมนคล้ายกลีบบัวหรือคล้ายทรงกระจังใบเทศ ลวดลายหน้าบุคคลสวมศิราภรณ์ มีสามตา อันมีความหมายถึงพระศิวะ นอกจากจะเป็นรูปของพระศิวะแล้ว ก็อาจเป็นรูปของอสูร “นนทิเกศวร”ทวารบาลผู้กำเนิดจากสีข้างพระศิวะ เป็นกระเบื้องเชิงชายที่หาได้ยากถึงยากมาก และอาจถูกผลิตตาม Order เฉพาะพื้นที่เพียงครั้งเดียว ไม่พบในแหล่งเตาฝั่งเขมรต่ำที่เลยจากกลุ่มชุมชนโบราณตามแนวเทือกเขาพนมดงรักลงไป แต่จะพบในเขตอีสานใต้ โดยเฉพาะในแหล่งเตาเขตอำเภอละหานทราย บ้านกรวด ประโคนชัย และพื้นที่ชุมชนโบราณใกล้เขาพนมดงรักในเขตจังหวัดอุดงมีชัยและบันเตยเมียนเจยของประเทศกัมพูชา ตัวอย่างของกระเบื้องรูปแบบนี้ ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ “กู่บ้านปราสาท”(Ku Ban Prasat Pr.) จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทเก่าแก่มีอายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ศิลปะแบบปราสาทแปรรับ ตัวของปราสาทถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานตามคติความเชื่อไศวะนิกาย ที่ถือให้พระศิวะเป็นยิ่งใหญ่ที่สุดบนสรวงสวรรค์ สอดคล้องกับการพบ กระเบื้องเชิงชายรูปพระศิวะ กระเบื้องหน้าทวารบาลรูปกลมแบบมีน้ำเคลือบ ? และกระเบื้องรูปกลีบบัวแห่งมูรติที่ขุดพบภายในบริเวณรอบพื้นที่ปราสาท

กระเบื้องเชิงชายลวดลายกลีบบัว พระศิวะและหน้าอสูร - ทวารบาล

พบที่ปราสาทกู่บ้านปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ทับหลังในศิลปะแบบแปรรับบนซุ้มประตูปราสาทประธาน

ปราสาทกู่บ้านปราสาท จังหวัดนครราชสีมา

อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15

         ลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายแบบที่เก้า เป็นภาพของ “พระอมิตาภะ”ปางสมาธิ ประทับเหนือดอกบัว ในซุ้มเรือนแก้ว หรือซุ้มฟันปลา ตามคติพุทธศาสนาแบบวัชรยาน – ตันตระ รูปแบบของพระอาทิพุทธเจ้าในซุ้มอานุภาพหรือเรือนแก้วนี้ ปรากฏงานศิลปะเด่นชัดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่นิยมสร้างรูปพระพุทธเจ้าในรูปแบบนี้ ใช้ประดับทับหลังกำแพงหรือทับสันหลังคา เป็นจำนวนมาก แพร่หลายไปทั่วบ้านเมืองที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิบายน

กระเบื้องเชิงชายลวดลายพระพุทธเจ้า "อมิตาภะ"

อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15

ขอบนอกทำเป็นลายรัศมีอานุภาพหรือลายฟันปลา

อายุในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18

         ตัวอย่างรูปกระเบื้องเชิงชายแบบนี้ที่เคยมีการพบ เป็นรูปของพระอมิตาภะ – อาทิพุทธเจ้า ประทับนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองข้างประสานกันบนพระเพลา สวมกระบังหน้าเป็นรูปวงโค้ง มีมวยพระเกศาทรงมงกุฎรูปกรวย ที่ปลายพระกรรณทรงกุณฑลลูกตุ้มคล้ายดอกบัวตูม ประทับอยู่เหนือดอกบัวที่แยกเป็น 3 กลีบ มีความหมายว่า ทรงเป็น “พระผู้ที่กำเนิดขึ้นมาจากความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”

         ลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายแบบที่สิบ เป็นรูป “นางอัปสรา” ไม่ค่อยปรากฏรูปแบบกระเบื้องเชิงชายลวดลายนี้ ในเขตประเทศกัมพูชาและอีสานใต้ ส่วนในประเทศไทยก็พบไม่มากนัก ที่ขุดพบอย่างเป็นระบบโบราณคดี คือ กระเบื้องเชิงชายดินเผา (ไม่เคลือบ) ที่บริเวณวัดมหาธาตุเมืองเชลียง จังหวัดสุโขทัยครับ

กระเบื้องเชิงชายลวดลาย "นางอัปสรา"

พบที่วัดมหาธาตุเมืองเชลียง จังหวัดสุโขทัย

อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 19

         รูปของนางอัปสรา มือซ้ายถือบัวขาบ มือขวาถือเครื่องสูง (แส้จามร ?) สวมศิราภรณ์เป็นกระบัง ยกสูง มีรัศมี (ใบระกา – ฟันปลา) ล้อมรอบที่ดูแปลกไปจากศิลปะแบบบายน หรือสมัยหลังบายน ซึ่งก็อาจจะถูกผลิตขึ้นเป็นการเฉพาะ จากคติความเชื่อผสมระหว่าง นางอัปสรา นางฟ้า – ผู้รับใช้บนสรวงสวรรค์ตามคติฮินดูและเทพสตรีในคติของเถรวาท ในช่วงปลายอำนาจของจักรวรรดิบายนในภูมิภาคสุโขทัย ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19

          รูปนางอัปสรา ในศิลปะและความเชื่อของช่างเขมรโบราณ เป็นภาพมงคลที่จะถูกนำมาสลักประดับไว้บนผนังอาคาร หรือข้างประตูทางเข้า เพื่อสร้างการ“สมมุติ” ให้กับศาสนสถานแห่งนั้นว่าเป็น “สรวงสวรรค์” หรือ “ภูมิจักรวาล” ที่ประทับของเหล่าเทพเจ้าบนพื้นพิภพ จึงมักมีรูปนางอัปราปรากฏให้เห็นอยู่ตามปราสาททั่วไป อย่างเช่น อัปสราพันนางที่ปราสาทนครวัด ปราสาทบายน ปราสาทาบาปวน ไปจนถึงปราสาทอิฐขนาดเล็กในยุคเริ่มแรกอย่างปราสาท “ตระเปรียงรุน” (Trapreng run Pr.) (สนใจเรื่องของนางอัปสรา ก็ขอเชิญไปอ่านในEntry ก่อนหน้าครับ)

ภาพสลักนูนต่ำ รูป"นางอัปรา"บริเวณฝั่งด้านในของอาคารโคปุระชั้นนอก

ของมหาปราสาทนครวัด

อายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17

         มาถึงในยุค “ถดถอย” ทางศิลปะในช่วงหลังสมัยบายน การสร้างลวดลายบนผนังอาคารศิลาแลงที่มีการฉาบปูน อาจขาดแคลนด้วยช่างฝีมือแกะสลักและช่างปูนปั้น จึงน่ามีการย้ายรูปมงคล ตัวแทนแห่งสวรรค์อย่างรูปนางอัปสรา มาสร้างเป็นลวดลายไว้บนกระเบื้องเชิงชายประดับชายหลังคาแทนที่ ตามคติความเชื่อที่ยังสมมุติให้อาคารศาสนสถาน (เช่นวัดมหาธาตุเมืองเชลียง) เป็นสรวงสวรรค์แห่งพระพุทธองค์ (เถรวาท – วัชรยาน) อันบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์เหมือนในยุคก่อน

         รูปแบบที่สิบเอ็ดของศิลปะแห่งกระเบื้องเชิงชาย เป็นลวดลายของ“หน้ากาล” หรือ “เกียรติมุข” เป็นกระเบื้องแบบที่พบมากหรืออาจจะพบเฉพาะในเขตชุมชนโบราณ แถบอีสานใต้ มาจรดยังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่พบในเขตเขมรต่ำ (?) หรือกลุ่มเมืองพระนคร

         ลักษณะของหน้ากาลเป็นเหมือนสัตว์ประหลาด หน้าคล้ายสิงห์แต่ไม่มีปากหรือขากรรไกรล่าง “กาล” เกิดขึ้นจากอำนาจแห่งความโกรธแห่งองค์พระศิวะ ที่ขมวดพระขนง (คิ้ว) เพราะความโกรธ ในครั้งที่อสูรราหูเข้ามาท้ารบ เมื่อไม่มีคู่ต่อสู้ “ความโกรธ” ของพระองค์ จึงได้กัดกินตัวเองแม้กระทั้งขากรรไกรจนหมดสิ้น เหลือแต่ท่อนหัวบนลอยไปมา เมื่อพระศิวะได้เห็นอานุภาพแห่ง “กาล” หรือแปลว่า “เวลา...ผู้กลืนกินทุกสรรพสิ่ง” จึงมอบหมายหน้าที่ให้คอยปกปักษ์รักษา และเตือนใจเหล่าสาธุชนที่เข้ามายังศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ “ .....ต่อไปเจ้าจะได้ชื่อว่า “เกียรติมุข” (มุมมองอันทรงเกียรติ) จงเฝ้าสถิตอยู่ที่หน้าประตูวิมานของพ่อตลอดไป ผู้ที่ไม่เคารพเจ้า.... ก็จะไม่ได้รับพรอันประเสริฐจากพ่อ”

         หน้ากาลหรือเกียรติมุขจึงเป็นรูปแห่ง “ความมงคล” ที่มีหน้าที่เฝ้าศาสนสถานและเป็น “เกียรติ” ที่คอยตักเตือนมนุษย์ให้ละเว้นจากความโกธร ช่างศิลปะโบราณจึงได้นำลวดลายของหน้ากาล มาใส่ไว้บนกระเบื้องเชิงชาย ตามความหมายดังกล่าว

กระเบื้องเชิงชายลวดลาย "หน้ากาล - เกียรติมุข"

อายุในราวกลาง - ปลายพุทธศตวรรษที่ 18

จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี

พบที่เมืองโบราณ "ศรีศัมพูกปัฏฏนะ" หรือ "จอมปราสาท" อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

         แต่ในยุคหลังพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่ออิทธิพลของเถรวาท เข้ามาแทนที่อิทธิพลทางความเชื่อของวัชรยานตันตระ จากรูปแบบของหน้ากาลที่มีแต่หัว ช่างในยุคต่อมาก็ได้เปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นรูปของราหูอมจันทร์ ที่เป็นคติร่วมกันในเรื่องราวของเทพปกรณัมเรื่อง “พระราหูอมจันทร์” ของวรรณกรรมทางฝ่ายเถรวาท

         กระเบื้องเชิงชายรูปแบบสุดท้าย (หรืออาจจะมีมากกว่านี้ ....ในอนาคต) เป็นลวดลายของ “หน้าสิงห์” ที่มีแฝงคอโดยรอบ ซึ่งได้รับอิทธิพลผสมผสานมาทั้งจากรูปศิลปะสิงโตของอินเดีย กับความเชื่อเรื่องสิงห์ เทวะสัตว์จากวัฒนธรรมจีน

          เป็นที่น่าแปลกว่า ถึงแม้ว่าต้นทางศิลปะในวัฒนธรรมจีนลงมาถึงเวียดนามจะนิยมสร้างลวดลายหน้าสิงห์บนกระเบื้องเชิงชายมากที่สุด รวมถึงในเมืองพระนครหลวงก็เคยมีการแกะสลักรูปใบหน้าสิงห์หรือสิงห์ทั้งลำตัว บนปลายชายหลังคาหินเลียนแบบเช่นที่ปราสาทนครวัดก็ตาม แต่ลวดลายของศิลปะที่เป็นรูปหน้าสิงห์ในงานช่างกัมพุชเทศทุกสมัยนั้น กลับดูเหมือนว่าไม่ได้รับความนิยมเท่ากับกระเบื้องเชิงชายรูปกลีบบัวหรือรูปสลักหินรูปกลีบบัว ตามแบบคติความเชื่อหลักที่รับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย มีความหมายอันเป็นมงคลเกี่ยวพันโดยตรงกับเทพเจ้าและสรวงสวรรค์ หรือมีกระบวนการผลิตได้ง่ายกว่ารูปของหน้าสิงห์

กระเบื้องเชิงชายลวดลาย "หน้าสิงห์"

อายุในราวกลาง - ปลายพุทธศตวรรษที่ 18

จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี

พบที่เมืองโบราณ "ศรีศัมพูกปัฏฏนะ" หรือ "จอมปราสาท" อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

เมื่อไม่ปรากฏชัดในเขตอีสานใต้และเขมรต่ำ ความโดดเด่นของกระเบื้องลวดลายนี้ จึงตกมาอยู่ที่กระเบื้องเชิงชายที่ขุดพบจากบริเวณเมืองโบราณ"ศรีศัมพูกปัฏฏนะ" ตรงปราสาทประธานกลางเมืองที่เรียกกันว่า “จอมปราสาท” (Jom Prasat Ruin) อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นปราสาทที่ประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ที่อยู่ในสภาพที่ “เคย” ถูก “ตั้งใจ”ทำลายให้ยับเยิน นับเป็นกระเบื้องเชิงชายรูป “หน้าสิงห์” ในช่วงปลายของวัฒนธรรม – ศิลปะแบบบายน ในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง - เจ้าพระยา ที่อาจมีความสวยงามที่สุดในศิลปะแบบเขมรเลยก็ว่าได้ครับ .....(ยกเว้นว่าจะมีคู่แข่ง หากหาเจอในอนาคต ? )

"บราลี" ดินเผา เครื่องหลังคากระเบื้องของโครงสร้างหลังคาไม้

อายุในราวกลาง - ปลายพุทธศตวรรษที่ 18

จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี

พบที่เมืองโบราณ "ศรีศัมพูกปัฏฏนะ" หรือ "จอมปราสาท" อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

           หน้าที่ตามคติความเชื่อของรูปสิงห์หรือสิงโตในวัฒนธรรมจีน เชื่อว่าสิงโตเป็นบุตรของมังกร มีอำนาจและพลังที่ยิ่งใหญ่ เป็นเทวะสัตว์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพียงเสียงคำรามหนึ่งก็สามารถขับไล่วิญญาณและสิ่งชั่วร้ายออกไปได้ สิงห์จึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้พิทักษ์แห่งสรวงสวรรค์ คอยปกปักษ์คุ้มครอง ผู้กระทำดี บ้านเรือนไปจนถึงศาสนสถาน

           เช่นเดียวกับหน้าที่ของสิงห์ในวัฒนธรรมอินเดีย ที่มีความหมายคล้ายคลึงกันในเรื่องของอำนาจและความน่าเกรงขาม รูปสลักของสิงห์จึงถูกนำมาใช้ทำหน้าที่เฝ้าอยู่บริเวณบันได หน้าทางเข้าอาคารศาสนาสถาน เพื่อปกปักษ์คุ้มครองมิให้ “ความชั่วร้าย” ที่ติดอยู่ใน “ใจ” ติดตามมนุษย์เข้ามาในปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยครับ

ภาพการทดสอบประกอบเครื่องกระเบื้องหลังคาที่พบจากการขุดค้นที่แหล่งเตาตานี

ทางทิศตะวันออกของเขาพนมบก

มามุงเข้ากับโครงสร้างหลังคาเรือนเครื่องไม้จำลอง

เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า

ในอดีตเคยมีเครื่องไม้หลังคาประกอบอยู่ด้านบนของอาคารศาสนสถาน

รวมไปถึงบ้านเรือน ศาลา พลับพลาไปจนถึงพระที่นั่ง ....ปราสาทราชวัง

ทุกหนแห่งที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรกัมพุชเทศ

           มาถึงตรงนี้ ก็คงต้องถามท่านผู้อ่านกันแล้วละครับว่า เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเรื่องราวมากมายของ “เครื่องไม้“ทั้งที่เป็น “โครงสร้างหลังคาประกอบปราสาทหิน เครื่องไม้ที่เป็นโครงสร้างของหลังคาปราสาท เรือนเครื่องไม้ ตลอดจนไปถึงเรื่องราวของกระเบื้อง เครื่องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา และศิลปะลวดลายอันงดงามของกระเบื้องเชิงชาย ที่ในปัจจุบันคือ “สิ่งที่สูญหาย” ไปเกือบทั้งหมดแล้ว

           จริง ๆ ก็ตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้สั้น ให้ง่าย ไม่ยืดยาวขนาดนี้ แต่ไม่รู้ยังไง ยิ่งเขียน ยิ่งขยายความ ยิ่งมากเรื่อง มากประเด็น คงเพราะในระหว่างการเรียบเรียงและเขียน เมื่อผมต้องยกตัวอย่างหรือ “ประเด็น” มันไปเกี่ยวพัน ก็มักอยากที่จะไปขยายเรื่อง เติมน้ำเข้าไปในเนื้อเรื่องแต่ละจุดให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งเนื้อหาและรูปภาพ

          ก็อยากให้ท่านผู้อ่าน ที่ตั้งใจอ่านและสนุกสนานไปกับเรื่องราวในอดีตของ“เครื่องไม้” โบราณในวัฒนธรรมเขมร ได้มีมุมมองแบบกว้างไกลลิบโลก จากข้อมูลของร่องรอยหลักฐานและ “เหตุผล” ที่เพียงพอต่อการสร้าง “จินตนาการ”ยามเมื่อท่านได้ออกไปสัมผัสกับซากของ “สิ่งที่คงเหลือ” อยู่จริง

          จากข้อมูล การชี้นำแบบอนุมานอย่างมีเหตุผลของเรื่อง ผมเชื่อว่าในวันนี้ หากเมื่ออ่านจบ ท่านจะสร้าง “จินตนาการ” และ “องค์ความรู้” ได้มากขึ้นกว่าเดิม

          จากที่เพียงเคยเดินผ่าน สนุกสนานไปกับการถ่ายรูปและการฟังบรรยายเรื่องราวความเป็นมาทางศิลปะจากมัคคุเทศก์ จนอาจไม่เคยมองเห็นว่า ....อะไรที่หายไปและว่างเปล่าอยู่ตรงนั้น

ขอขอบคุณ: http://www.oknation.net/blog/voranai/2011/12/19/entry-2

 
ขอขอบคุณ http://www.youtube.com : เพลงพระทอง-นางนาค / พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์